ตำนานหลวงพ่อ “พระมหาลอย” วัดแหลมจาก พระเถราจารย์ยุคเก่า มหาเปรียญผู้ทรงภูมิธรรม คมทั้งปริยัติและปฏิบัติ ท่านเกิดที่บ้านปากรอ เมื่อ พ.ศ. 2412 โยมบิดาชื่อ ฮิ้ว เป็นชาวพัทลุง เชื้อสายตระกูล ณ พัทลุง ส่วนโยมบิดาเป็นชาวสงขลาไม่ทราบชื่อ ท่านมีพี่น้องเดียวกัน 3 คน เป็นชายทั้งหมด ตัวท่านเป็นคนกลาง มีพี่ชายชื่อ หนู ส่วนน้องชายชื่อ ชุม (ภายหลังเป็นพระสมุห์ชุม เจ้าอาวาสรูปที่ 2 ของวัดแหลมจาก) ท่านมหาลอยเกิดในตระกูล “ระตินัย” ซึ่งในขณะนั้นประกอบอาชีพทำนาทำสวน มีฐานะปานกลาง ท่านมีอุปนิสัยหัวแข็งไม่ยอมคน ไม่ลงให้ใครง่าย ๆ แต่เป็นคนมีเหตุผลชอบความถูกต้อง และยุติธรรม โยมแม่ของท่านถึงแก่กรรมตั้งแต่ท่านยังเล็กอยู่ โยมพ่อจึงได้นำท่านไปฝากไว้กับตาและป้าซึ่งมีบ้านพักอยู่ใกล้วัดไทรงาม อ.เมือง จ.สงขลา ในระหว่างที่ท่านอยู่นั้นท่านมักจะติดตามตาของท่านเข้าไปวัดไทรงามด้วยเป็นประจำ จนกระทั้งสมภารวัด คือ พ่อท่านเพชร มีความรักใครในตัวท่านเป็นอย่างมาก จึงได้สอนหนังสือจนท่านอ่านออกเขียนได้ ทั้งภาษาไทยและภาษาขอมปริยัติ ท่านมหาลอยอุปสมบทเมื่ออายุครบที่วัดควนโส ต.ควนโส อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ได้นามฉายาว่า “จนทโร” หลังจากบวชแล้วท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดไทรงามระยะหนึ่ง แล้วจึงเดินทางเข้ากรุงเทพ ไปเล่าเรียนที่วัดสุทัศน์เทพวราราม ซึ่งเป็นสำนักเรียนเก่าแก่และมีชื่อเสียง ขณะนั้นสมเด็จพระวันรัต (แดง) เป็นเจ้าอาวาสอยู่ ท่านจึงได้ฝากตัวเป็นศิษย์ต่อสมเด็จวันรัต (แดง) แล้วท่านก็ได้อบรมสั่งสอนพระปริยัติธรรมจากสมเด็จสังฆราช (แพ) ซึ่งขณะนั้นยังเป็นราชาคณะอยู่ การเรียนปริยัติธรรมของท่านมหาลอยก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เมื่อคราวเปิดสอบสนามหลวง ท่านก็สามารถสอบผ่านได้เป็นเปรียญ 4 ประโยค จึงได้มีคำนำหน้าว่า “มหา” แต่นั้นมาท่านมหาลอยได้พระราชพัดยศจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพิเศษสุด คือได้รับพระราชทานย่ามจารึก พระปรมาภิไธย จ.ป.ร. จากพระหัตถ์ของรัชกาลที่ 5 ซึ่งนับว่าเป็นเกียรติอย่างสูงแก่ตัวท่าน และภิกษุชาวปักษ์ใต้ และได้โปรดรับสั่งให้เข้าไปทำการสอนบาลีในพระบรมมหาราชวัง นอกจากสอนบาลีแล้ว ก็ได้สอนหนังสือให้กับพระบรมวงศานุวงศ์อีกหลายพระองศ์ จนกระทั่งได้รับความสนิทสนมไว้วางพระหทัยจากกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ กรมหลวงสงขลานครินทร์ พระบรมวงศ์เธอพระองศ์เจ้าอาทิตย์ และล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 การเข้าออกเขตพระราชฐาน หรือพระบรมมหาราชวังของท่านมหาลอยได้รับพระบรมราชานุญาติเป็นกรณีพิเศษ คือ เพียงคล้องย่ามพระราชทาน จ.ป.ร. เมื่อทหารรักษาพระบรมหาราชวังเห็นก็จะเปิดประตูให้และอำนวยความสะดวกให้ทุกอย่าง นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ที่มีต่อท่านมหาลอย เพราะทรงเลื่อมใสศรัทธาในความรู้และวัตรปฏิบัติของท่าน ท่านมหาลอยสอนหนังสือและบาลีอยู่ในพระบรมหมาราชวังเป็นเวลา 2 พรรษา ก็เกิดอาการเป็นโรคเหน็บชา ทำให้ไม่สามารถไปสอนได้ จึงกราบบังคมทูลลาออกเพื่อเดินกลับจังหวัดสงขลาซึ่งเป็นภูมิลำเนาของท่าน พระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงพระมหากรุณาให้แพทย์หลวงรักษาอาการป่วยของท่านจนเป็นปกติและได้พระราชทานพระบรมราชานุญาติให้ลาออกจากครูสอนบาลีได้ ท่านจึงเดินทางกลับมาพักจำพรรษาอยู่ที่วัดแจ้ง อ.เมือง จ.สงขลา และก็ยังทำหน้าที่เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมให้กับพระเณรที่บวชอยู่ทั้งใหม่และเก่า นับว่าท่านมีอัจฉริยภาพมากทั้งในการเรียนการสอน เมื่อชาวบ้านปากรอทราบว่าท่านได้กลับมาอยู่สงขลาแล้วจึงได้ไปมาหาสู่เป็นประจำ และร้องขอให้ท่านกลับไปอยู่ที่ปากรอ แล้วจะช่วยสร้างวัดให้จำพรรษา เมื่อมีชาวบ้านจำนวนมากพากันมารบเร้าท่านก็ได้รับปากจะไปอยู่ที่ปากรอ เพื่อต้องการไปอบรมสั่งสอนพระเณรและชาวบ้านปากรอบ้างด้วยถือว่าเป็นถิ่นกำเนิด จึงให้ชาวบ้านมาช่วยกันถางป่าต้นไม้จากบริเวณริมน้ำ แล้วจัดการสร้างเป็นเสนาสนะชั่วคราวพออยู่ได้ไปก่อน ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านที่มีความศรัทธาในตัวท่าน ไม่ช้าป่าจากแห่งนั้นก็กลายสภาพเป็นที่พักสงฆ์ชั่วคราว และพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ โดยท่านมหาลอยเป็นผู้ลงมือก่อสร้างด้วยตนเอง ท่านเป็นพระที่มีศีลจารวัตรงดงามมาก แม้ท่านเป็นพระที่เคร่งครัด แต่วาจาอ่อนหวานไพเราะน่าฟังและน่ายำเกรงเป็นพระมหานิกายที่เคร่งต่อวัตรปฏิบัติ และมีปฏิปทาที่น่าเลื่อมใส อีกทั้งยังมีความรู้ทางพระเวทย์หรือวิชาอาคม เนื่องจากท่านมหาลอยเรียนรู้มาจากโยมพ่อและโยมปู่ผ่านต้นคัมภีร์พระเวทย์และอาคมซึ่งได้รับตกทอดมาจากพระยาพัทลุง (ขุน ณ พัทลุง) อดีตเจ้าเมืองพัทลุง ที่ชาวพัทลุงรู้จักกันดีนามว่า “ขุนคางเหล็ก” ตามตำนานบอกว่า “ขุนคางเหล็ก” เป็นผู้มีวิชาอาคมแก่กล้ามาก รอบรู้ทางพระเวทย์อาคมขลัง เป็นศิษย์ศึกษาพุทธาคมจากสำนักวัดเขาอ้อ ซึ่งท่านมหาลอยเองก็ได้ติดต่อไปมาหาสู่สำนักวัดเขาอ้อเป็นประจำ วิชาไสยศาสตร์คาถาอาคม วิชาโหราศาสตร์และวิชาแพทย์แผนโบราณท่านได้ศึกษาจากสำนักวัดเขาอ้อและจากตำราที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษซึ่งเป็นตำราของสำนักวัดเขาอ้อเช่นกัน
นอกจากนี้ท่านมหาลอยยังมีความเชี่ยวชาญในงานด้านช่าง ท่านพัฒนาวัดแหลมจากให้เจริญรุ่งเรืองจนเป็นที่ประจักษ์โดยท่านลงมือทำงานด้านช่างเอง ไม่ว่างานไม้ งานปูน เมื่อสร้างกุฏิที่พักแล้ว ยังเผาอิฐโบกปูนสร้างพระพุทธรูปเป็นพระไสยาสน์ขนาดใหญ่องค์หนึ่ง กว้าง 5 เมตร ยาวประมาณ 35 เมตร และสูงประมาณ 9 เมตร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปประจำวันเกิดของท่าน โดยขนหินมากจากเกาะยอผ่านทางเรือล่องมาในทะเลสาบสงขลา พุทธศิลป์ขอพระพุทธไสยาสน์หรือพระนอนได้แสดงฝีมือของช่างท้องถิ่นและภูมิปัญญาในการใช้วัสดุประจำถิ่น เช่นการนำหินมาก่อเป็นพระนอนก่อนแล้วจึงฉาบทับด้วยปูน จากหลักฐานทางโบราณคดีสันนิษฐานว่าพระนอนวัดแหลมจากอยู่ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 25 (พ.ศ. 2451-2499) นอกจากนี้ยังสร้างเจดีย์และพระพุทธรูปอื่น ๆ อีกหลายองค์
กระทั่งเมื่อต้นปี พ.ศ. 2482 ท่านก็เริ่มอาพาธ ตามหลักฐานข้อมูลจากวัดแหลมจากมีการเล่าต่อกันว่าก่อนที่ท่านมหาลอยจะมรณภาพ ได้ฝันถึงคน 4 คน พาช้างเผือกเชือกหนึ่งมาหาท่าน คนหนึ่งทูนหม้อดิน จีวร สังฆาฏิ เมื่อมาถึงได้ตรงเข้ามานมัสการท่าน แล้วจัดการเปลี่ยนจีวรให้ลงไปอาบน้ำในหม้อ เมื่ออาบเสร็จจึงพากันจากไป รุ่งขึ้นท่านได้เล่าให้ลูกศิษย์ฟังพร้อมบอกว่าท่านสบายแล้วไม่ต้องเป็นห่วง จนในคืนก่อนที่ท่านจะมรณภาพ ท่านได้ให้ลูกศิษย์จัดดอกไม้ธูปเทียน หมากพลู เมื่อได้สวดมนต์ทำวัตรให้เรียบร้อย กระทั่งเมื่อถึงเวลาตี 3 ลูกศิษย์ตื่นขึ้นมาพร้อมกัน พร้อมกับมีชายที่ชื่อนายขาวมากรวดน้ำให้ท่าน เมื่อกรวดน้ำเสร็จท่านจึงกลับไปนอนต่อจนกระทั่งท่านมรณภาพก่อนฟ้าสางในวันรุ่งขึ้น ในปี พ.ศ. 2482 นั้นเอง รวมสิริอายุ 70 ปี 50 พรรษา
พิธีสรงน้ำถือเป็นประเพณีปฏิบัติ มีการจัดงานในช่วงเดือนห้า ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์หรือวันขึ้นปีใหม่ไทย โดยทำบุษบกวางฐานรูปหล่อพ่อท่านลอย และพ่อท่านมาก ตั้งไว้ ในอดีตนำไม้ไผ่เป็นรางวางทอดยาว จากที่สูงลงที่ต่ำ เมื่อสรงน้ำ น้ำจะไหลผ่านตามท่อไม้ไผ่ ก่อนลงเศียรพระ จะมีผ้าขาวกรองน้ำสะอาดขึงเป็นสี่มุม น้ำที่ผ่านการสรงน้ำพระแล้ว ชาวบ้านจะนำไปบูชา ประพรมน้ำมนต์รดศีรษะ ดื่มกิน เพื่อเป็นสิริมงคลให้กับตนเองและครอบครัว
เลขที่ : วัดแหลมจาก หมู่2 ต. ปากรอ อ. สิงหนคร จ. สงขลา 90330
- นายวิจิตร เพ็งจำรัส
- Rujiya1995@gmail.com : มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ :
- 0948599662