AS-90330-00003
เจดีย์ ๕๐๐ ปี (วัดชะแล้)
Pagoda Wat chalae
ประเภทวัฒนธรรม
จับต้องได้ : Tangible.
หมวดหมู่วัฒนธรรม
โบราณสถาน
AS:Archeological Site
โบราณสถานสัญลักษณ์แห่งชาติ
ข้อมูล/ประวัติ
วัดชะแล้มีพระบรมธาตุสุวรรณคีรีเจดีย์วัดชะแล้ เจดีย์ตั้งอยู่บนเขาออก ปัจจุบันมีการสร้างเจดีย์องค์ใหม่คอบทับเจดีย์องค์เดิม ซึ่งมีประวัติที่น่าจะเทียบเคียงได้กับเจดีย์ของวัดสทิงพระ วัดพะโคะ และวัดเขียนบางแก้ว โดยเป็นรูปทรงระฆังคว่ำ เมื่อ พ.ศ. 2512 สมัยของท่านสมภารแดงเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้ให้นาค (ผู้ที่รอบวชซึ่งต้องมาอยู่ที่วัด) จำนวนหนึ่งขึ้นไปถางต้นไม้บริเวณยอดเขาซึ่งเป็นที่ตั้งของเจดีย์ พวกนาคเหล่านั้นจึงได้ขุดคุ้ยกองอิฐซึ่งเป็นเจดีย์องค์เก่าที่พังลงมา (หรืออาจก่อสร้างไม่เสร็จ) และได้รื้อลงไปในฐานรากของกองอิฐนั้นได้พบขันใบใหญ่ที่บรรจุพระพุทธรูปทองคำ แหวน เพชรพลอย ทั้งที่ได้เจียรนัยเป็นหัวแหวนแล้วและที่เป็นเม็ดเดิม ๆ รวมไปถึงเจดีย์แก้ว 3 ส่วนที่ถอดประกอบได้และส่วนกลางได้บรรจุเศษกระดูกซึ่งเชื่อว่าเป็นธาตุพระวางอยู่ในขันสำริด ส่วนองค์เจดีย์แก้ววางบนฐานคว่ำของขันสำริดอีกครั้งหนึ่ง ภายในขันสำริดอันใหญ่นั้นบรรจุศิลปโบราณต่างๆ อาทิ แหวนทองคำ หัวแหวน หัวนโน พระพุทธรูปทองคำ อัญมณี แผ่นทองคำ แผ่นสำริดรูประฆัง ใบโพธิ์ เป็นต้น ส่วนรายรอบขันสำริดเป็นผอบดินเผาสมัยราชวงศ์ซ้อง (พุทธศตวรรษที่ 17-21) สมัยสุโขทัย (พุทธศตวรรษที่ 18-20) และกระปุกเคลือบของจีนสมัยราชวงศ์หมิง (ราวพุทธศตวรรษที่ 21-22) เป็นต้น หลักฐานทางประวัติศาสตร์ของวัดชะแล้บางส่วน ปรากฏจากการขุดพบโบราณวัตถุจากซากที่เชื่อว่าเป็นส่วนของฐานเจดีย์องค์เก่า และเชื่อว่าน่าจะมีเจดีย์องค์เก่าก่อนที่จะสร้างเจดีย์องค์ปัจจุบันและได้พังลงไปก่อนหน้านั้นแล้ว เป็นการค้นพบโดยบังเอิญเนื่องจากเจ้าอาวาสในขณะนั้น คือ ท่านแดง ปญญธมโม เจ้าอาวาสรูปที่ ๑๐ (ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ – ๒๕๒๖) ที่เห็นว่าพื้นที่บริเวณรอบองค์เจดีย์รกร้างหญ้าคลุมโดยทั่วไป จึงให้ถากถางออกเมื่อขุดลงไปเล็กน้อยจึงพบแจกันไหแตกพร้อมพระแหวน เงินทอง จึงนำมาเก็บรักษาไว้ พร้อมทั้งได้แจ้งให้กรมศิลปากรดำเนินการตามทางวิชาการ ทั้งนี้ยังค้นพบองค์เจดีย์ขนาดเล็กทำจากหยก สูงประมาณ ๒๐ เซนติเมตร สามารถถอดประกอบได้ แยกเป็น ๓ ส่วน คือ ท่อนฐานพระเจดีย์ ท่อนกลาง และท่อนยอดพระเจดีย์ ส่วนท่อนกลางพระเจดีย์นั้นปรากฏว่ามีเม็ดกลมๆ หุ้มทองคำ ขนาดเท่าเมล็ดข้าวสารหัก จึงเข้าใจว่าเป็นพระบรมธาตุ เมื่อแกะออกดูเป็นแผ่นทองคำหุ้มพระธาตุ ภายในนั้นเป็นวัตถุขนาดเท่าเมล็ดผักกาดมีสีคล้ายดอกพิกุล องค์เจดีย์ปัจจุบันไม่มีหลักฐานการสร้าง เป็นรูปแบบลักษณะระฆังคว่ำ หรือโป่งขาม ท่านแดง ปญญธมโม เจ้าอาวาสรูปที่ ๑๐ ( ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ – ๒๕๒๖) เห็นว่าองค์เจดีย์อยู่ในสภาพที่พร้อมจะพังลงมา จึงรวบรวมชาวบ้านและผู้มีจิตศรัทธาได้สร้างอาคารหลังใหม่คลุมเจดีย์ไว้ (ไม่ได้สร้างปิดทับ) พร้อมการบรรจุของที่ขุดพบทั้งหมดที่ไว้ในฐานอาคารรวมทั้งเจดีย์หยกที่กล่าวถึง ทำให้ไม่สามารถศึกษาลักษณะรูปแบบศิลปกรรมได้ว่าเป็นฝีมือช่างและสกุลช่างในสมัยไหน โดยได้บรรจุเก็บเมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๓๒ ตรงกับวันพฤหัสบดี ปีมะโรง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ เวลา ๑๓.๐๐ น. ลักษณะทางกายภาพ ลักษณะทางสถาปัตยกรรมขององค์พระเจดีย์เป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ ก่อสร้างอาคารปิดล้อมโดยรอบเป็นรูปแปดเหลี่ยม มีทางขึ้นเป็นบันไดค่อนข้างชันอยู่บริเวณทางด้านขวาขององค์พระเจดีย์ โครงสร้างอาคารเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กโดยรอบ ประตูทางเข้าองค์เจดีย์อยู่ทางด้านหน้าเป็นประตูไม้ตกแต่งสวยงาม ด้านหน้าเป็นลานโล่งมีศาลาไม้หลังเล็กไว้สำหรับนั่งพักผ่อน ส่วนทางขึ้นลงขององค์พระเจดีย์สามารถขึ้นลงได้สองทาง ทั้งทางด้านหน้าและด้านหลังขององค์พระเจดีย์ ซึ่งลักษณะบันไดทางขึ้นค่อนข้างชันมีต้นไม้ปกคลุมโดยรอบ บริบทโดยรอบ เนื่องด้วยอาคารตั้งอยู่บนที่ราบสูงสภาพแวดล้อมโดยรอบจึงมีต้นไม้ใหญ่ปกคลุมโดยรอบพื้นที่ ตั้งแต่บริเวณทางขึ้นจนถึงบริเวณพื้นองค์พระเจดีย์ ด้านหน้าหรือบริเวณปากทางขึ้นเป็นพื้นที่ของวัดชะแล้ มีอาคารทางพิธีกรรมทางศาสนาโดยรอบ และมีพิพิธภัณฑ์ภายในวัดชะแล้ ส่วนด้านหลังพระเจดีย์หากมองจากด้านบนขององค์พระเจดีย์จะมองเห็นพื้นที่โล่งด้านล่าง เห็นวิวธรรมชาติและชุมชนที่สวยงาม บริเวณด้านซ้ายเป็นบ่อน้ำวัดชะแล้ และบริเวณลานวัดชะแล้ ซึ่งปัจจุบันหากมองจากด้านบนจะมีต้นไม้ปกคลุมโดยรอบ บริเวณด้านขวาขององค์พระเจดีย์เป็นชุมชนวัดชะแล้ปัจจุบันมีต้นไม้ใหญ่ปกคลุมโดยรอบ


ที่ตั้ง
เลขที่ : วัดชะแล้ ต. ชะแล้ อ. สิงหนคร จ. สงขลา 90330
บุคคล/กลุ่มผู้ให้ข้อมูล
- นายกรณ์เชษฐ์ สิทธิพันธ์
ผู้บันทึกข้อมูล
- Rujiya1995@gmail.com : มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ :
ช่องทางติดต่อ
- 0945393989
มีผู้เข้าชมจำนวน :509 ครั้ง
บันทึกข้อมูลเมื่อวันที่ : 29/04/2022 - ปรับปรุงล่าสุดวันที่ : 29/04/2022