ประเพณีเลงตรุษ รำตร๊ด (เรือมตร๊ดสงกรานต์)
จังหวัดศรีสะเกษเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญและมีประวัติความเป็นมายาวนาน เป็นพื้นที่ที่ประชากรมีความแตกต่างทางชาติพันธุ์พื้นถิ่นดั้งเดิมถึง ๔ กลุ่มชาติพันธุ์ คือ ลาว เขมร ส่วย (กูย) และ เยอ ถึงแม้จะมีความแตกต่างกันด้านชาติพันธุ์ วัฒนธรรมประเพณี ภาษาพูด แต่กลุ่มคนทั้ง ๔ ชาติพันธุ์ก็มีความรักใคร่ ปรองดอง สามัคคีกันเป็นอย่างดี ศิลปะการฟ้อนรำ ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่คนอีสานถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ จัดเป็นได้ทั้งศิลปะการแสดงและการละเล่นอย่างหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นหรือพบเห็นในช่วงงานบุญหรืองานเทศกาลที่สำคัญๆ เท่านั้น จนมักจะมีคำกล่าวของคนอีสานว่า “ไปฟ้อนเอาบุญ” คนอีสานทั่วไปจะมีเอกลักษณ์ในการฟ้อนอย่างง่ายไม่ได้ยึดติดกับหลักทฤษฎีทางนาฏศิลป์ เป็นการฟ้อนไปตามจังหวะดนตรีโยกย้ายท่าทางอย่างอิสระ แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตคนอีสานว่า เป็นคนที่รักอิสระไม่ชอบให้ใครมาตั้งกฎเกณฑ์ควบคุมให้มากเกินไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไร้ซึ่งระบบระเบียบ
รำตร๊ด บางท้องถิ่นเรียกว่า “เรือมตรด”คือ “รำตรุษสงกรานต์”เป็นการละเล่นพื้นบ้านของชาวอีสานใต้มาตั้งแต่โบราณ มีความเชื่อเป็นการละเล่นเพื่อความสนุกสนานในวันขึ้นปีใหม่ของชาวไทยสมัยก่อนที่ใช้เดือนเมษายนของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่ โดยเฉพาะชาวไทยเชื้อสายเขมร ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่ใช้ภาษาตระกูลมอญ – เขมรที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ – ๑๘ กล่าวคือ ในยุคที่อาณาจักรขอมหรืออาณาจักรเขมรโบราณเรืองอำนาจจะเห็นได้จากมีเทวาลัยหรือปราสาทสร้างกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปไม่เฉพาะจังหวัดศรีสะเกษเท่านั้น แต่มีในจังหวัดใกล้เคียงอื่นๆ ด้วย นอกจากนี้รำตร๊ด มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา โดยมีพุทธตำนานเล่าว่าสมัยที่พระพุทธเจ้าเมื่อยังคงเป็นพระโพธิสัตว์ พระองค์เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงออกผนวช แต่มีมารแปลงกายเป็นกวางทองมาขัดขวางทางเสด็จพระองค์ เพื่อไม่ให้เดินทางออกบวช พระโพธิสัตว์ทรงอธิษฐานขึ้น ทำให้สวรรค์ชั้นเทวโลกบังเกิดความร้อน เทวดาทั้งหลายจึงพากันแปลงกายเป็นนายพรานลงมาฆ่ากวางได้แล้วร่วมขบวนแห่พระโพธิสัตว์ไปทรงออกผนวชได้สำเร็จตามความประสงค์ จึงทำให้จัดแสดงรำตร๊ดเป็นมรดกสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน
รำตร๊ด เป็นการรำของชาวศรีสะเกษเชื้อสายเขมร นิยมเล่นในเทศกาล ออกพรรษา งานกฐิน และหน้าแล้งเดือนห้า โดยตระเวนเล่นไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ เพื่อบอกบุญขอบริจาคทรัพย์สมทบกองทุนผ้าป่า กองดอกไม้ กองกฐิน ประกอบด้วยเครื่องดนตรีคือ กลอง ปี่อ้อ ขลุ่ย ฆ้องใหญ่ กรรชันร์ (ภาษาเขมร) กระพรวนวัว ซออู้ อุปกรณ์ที่ประกอบการเล่นมีคันเบ็ด ผู้เล่นชายร้องเพลงคนหนึ่ง มีลูกคู่ช่วยกันร้องประกอบ ฝ่ายหญิงคนหนึ่ง นางรำแล้วแต่เหมาะสม ประมาณ ๑๒ คน ผู้แสดงประกอบคล้ายตัวละคร มีพราหมณ์ขอทาน สวมหน้ากาก ตีกลอง ถือกระพรวนวัว ถือกะลา ถือคันเบ็ด การร่ายรำตามจังหวะเพลง มีนาฏลีลา อ่อนช้อยเนิบนาบ
การร้องและกระทุ้งกระพรวนจำนวนหลายลูกผูกติดกับไม้ที่เป็นรูปกากบาท มีกลอง ปี่ หรือขลุ่ย นักร้องชายหญิงร้องสลับกัน ผู้รำจะเดินเป็นแถว จำนวน ๑๕ - ๒๐ คน เดินไปตามบ้านเหมือนกับการ เซิ้งแผ่เงิน (เรี่ยไร) ของชาวลาวในโอกาสที่มีงานบุญนิยมเล่นกันที่บ้านสำโรงพลัน ตำบลสำโรงพลัน อำเภอไพรบึง บ้านนาตราว บ้านศาลา ตำบลโคกตาล บ้านจำปานอง ตำบลนาตราว อำเภอภูสิงห์ การแต่งกายสวมชุดพื้นเมืองเช่น ผ้าโสร่ง สวมเสื้อหลากสี เมื่อไปถึงหน้าบ้านผู้ใดก็ จะเริ่ม ตีกลอง ผู้ร้องนำก็จะเริ่มร้องขับแล้วผู้ร้องตามก็จะร้องพร้อมกันพร้อมกับจังหวะการรำไปทางซ้ายทีทางขวาที กระทุ้งด้วยไม้ผูกกระพรวน ให้ได้ยินถึงเจ้าของบ้าน เมื่อคณะรำตร๊ดไปถึงบ้านใครก็จะหาน้ำให้ดื่ม ให้สุรา และถวายจตุปัจจัยเพื่อร่วมทำบุญ หลังจากนั้นคณะรำตร๊ดก็จะร้องเพลงอวยพรให้มีความสุขความเจริญ
เลขที่ : โรงเรียนบ้นสำโรงพลัน ต. ไพรบึง อ. ไพรบึง จ. ศรีสะเกษ 33180
- ธีรพงศ์ สงผัด
- นางจุฑามณี รุ้งแก้ว : มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ : 2566 Open Call
-