FL-44190-00013
ประวัติชุมชนบ้านยาง
ประเภทวัฒนธรรม
จับต้องไม่ได้ : InTangible.
หมวดหมู่วัฒนธรรม
วรรณกรรมพื้นบ้าน
FL:Folk Literature
ข้อมูล/ประวัติ
บ้านยาง ประวัติของบ้านยาง จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่า ผู้แก่ในหมู่บ้านได้เล่าไว้ว่า ประมาณปี พ.ศ.2351 มีกลุ่มคนมาจากจังหวัดร้อยเอ็ด เคลื่อนย้ายของมาตั้งที่พักอาศัย ณ บริเวณแห่งนี้ ซึ่งในขณะนั้นยังไม่ได้ตั้งชื่อหมู่บ้าน จนกระทั้งประมาณ ปี พ.ศ.2380 นายขวัญงิ้ว (ผู้ใหญ่บ้านคนแรกของหมู่บ้าน) พาผู้คนเคลื่อนย้ายเข้ามาพื้นที่บ้านยาง พบว่าบริเวณแห่งนี้มีต้นยาง จำนวนมากจึงพากันตั้งบ้านเรือน ประมาณ 7-8 หลังคาเรือน และเรียกหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านยาง”(นายทองดี ศรีรักษา : สัมภาษณ์) เมื่อตั้งหมู่บ้านชาวบ้านได้สร้างวัดบ้านยาง ขึ้นอยู่บริเวณกลางหมู่บ้าน เพื่อเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยว จิตใจและประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของชาวบ้าน ซึ่งมีเสา จนกระทั้งประมาณ ปี พ.ศ. 2474 หลวงปู่ผาย และชาวบ้าน ได้ย้ายวัดบ้านยาง จากบริเวณพื้นที่กลางบ้านมาทางด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้าน (ที่ตั้งปัจจุบัน) เป็นสาเหตุหนึ่งที่เริ่มเกิดการขยายตัวของหมู่บ้านจากบริเวณกลางบ้านมายังทางด้านทิศตะวันตก (นางทองสุข เวียงภักดิ์ : สัมภาษณ์) สภาพแวดล้อมของหมู่บ้านยาง เป็นพื้นที่กันดรน้ำ ชาวบ้านจึงต้องอาศัยน้ำฝนจากธรรมชาติเป็นหลักในการเพาะปลูก ดำรงชีพ และขุดบ่อน้ำบาดาลเพื่อไว้อุปโภค-บริโภค การที่ต้องพึ่งพาอาศัยน้ำฝนจากธรรมชาติ บางปีเกิดภัยแล้งทำให้ชาวบ้านบางคนต้องเคลื่อนย้ายออกจากหมู่บ้าน เพื่อไปทำมาหากินยังที่อื่น เช่น เมื่อ พ.ศ. 2510 เกิดภัยแล้งขึ้นทำให้ชาวบ้านจำนวน 7-8 ครอบครัวเดินทางไปยังที่ อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร เพื่อหาที่ทำมาหากินสำหรับเลี้ยงครอบครัว (นายดาว บุญบุตตะ : สัมภาษณ์) ในช่วงราว ทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของหมู่บ้าน คือ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่1 พ.ศ.2504-2509 ในสมัย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 11 ของประเทศไทย นำพืชเศรษฐกิจมาให้ชาวบ้านปลูก คือ ปอ ทำให้พื้นที่ป่าบางส่วนของหมู่บ้านถูกถางเพื่อปรับที่ดิน เพื่อการปลูกปอ ทำให้ชาวบ้านนิยมหันมาปลูกปอ เพื่อเลี้ยงชีพตนเอง เช่น ปลูกปอเพื่อขาย รับจ้างลอกปอ ซึ่งผลผลิตที่ได้นำไปขายให้กับ ร้านสหศิลป์ ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวทำให้ชวาบ้านมีรายได้เป็นอย่างมากในการปลูกปอ จนกระทั้งในช่วงราวทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา ราคา ปอ ตกต่ำทำให้ชาวบ้านเลิกปอปลูกไปในที่สุด และได้หันมาปลูกพืช แตงโม มันสำปะหลัง พริก (นางสมใจ ลิ่มเจือ : สัมภาษณ์) นอกจากการทำอาชีพเกษตรกรรม เมื่อ พ.ศ.2510 ชาวบ้านได้ประกอบอาชีพค้าขายไม้กวาดดอกหญ้า ไม้กวาดมือเสือ “นายฮ้อยไม้กวาด” ที่เริ่มรับไม้กวาดจากบ้านดง และ บ้านดอนบม อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม มาขายยังหมู่บ้านยาง และ พื้นที่ใกล้ๆเคียง ต่อมาเมื่อประมาณ พ.ศ.2516 นายสมบูรณ์ มาตรา และนายสุทัศน์ นามคุณ ชาวบ้านจากบ้านดอนบม ที่มาร่วมบุญงานกฐินที่บ้านยาง และได้ทำไม้กวาดมือเสือในกองบุญ ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตของผู้คนในหมู่บ้าน ที่ริเริ่มประกอบอาชีพ ค้าขายไม้กวาดมือเสือ เพื่อเป็นอาชีพเสริมของตนเอง สำหรับอาชีพค้าขายไม้กวาดนั้นเริ่มทำกันเพียงไม่กี่หลังคาเรือน ชาวบ้านที่ผลิตไม้กวาดมือเสือ ได้นำไปเร่ขายยังพื้นที่ต่างๆในภาคอีสาน ซึ่งเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ที่ดีให้กับผู้ในหมู่บ้าน ปัจจุบันอาชีพค้าขายไม้กวาดมือเสือ ที่บ้านยาง เป็นแหล่งผลิตที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในภาคอีสาน สามารถกล่าวได้ว่า ไม้กวาดมือเสือเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านในหมู่บ้าน (นายดาว บุญบุตตะ : สัมภาษณ์) ในช่วงประมาณ พ.ศ.2537-2538 มีโครงการขุดลอกหนองสิม ซึ่งผลจากการขุดลอกได้นำดินจากหนองสิมาสร้างเป็นถนนภายในหมู่บ้าน นอกจากนั้นงานมีกิจกรรมที่ชาวบ้านจัดขึ้นที่หนองสิม คือ งานบุญเดือน 4 ที่ชาวบ้านสามารถลงจับปลาที่หนองสิม โดยเงินที่ได้จากการหาปลา ผู้นำหมู่บ้านจะนำมาพัฒนาหมู่บ้านต่อไป (นายสัมฤทธิ์ สอนใจ : สัมภาษณ์) นอกจากอาชีพการค้าขายไม้กวาดมือเสือ เป็นสิ่งที่ล่อเลี้ยงชีวิตของผู้ในในหมู่บ้าน ซึ่งหมู่บ้านยาง ในบริเวณพื้นที่ป่าของหมู่บ้าน ยังมีสถานที่พึ่งพาทางจิตใจ ศาลปู่ตา ที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ มีการจัดงานพิธีเลี้ยงปู่ตา และการเสี่ยงทายบั้งไฟ ตามความเชื่อของชาวบ้าน รวมถึง พระธาตุยาง ที่ก่อสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2560 โดยพระอาจารย์อาคม เพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมอีกแห่งหนึ่งของหมู่บ้านของชาวบ้านและหมู่บ้านใกล้เคียง


ที่ตั้ง
เลขที่ : บ้านยาง ต. มิตรภาพ อ. แกดำ จ. มหาสารคาม 44190
บุคคล/กลุ่มผู้ให้ข้อมูล
- นายสัมฤทธิ์ สอนใจ
ผู้บันทึกข้อมูล
- มหาวิทยาลัยมหาสารคาม : มหาวิทยาลัยมหาสารคาม :
ช่องทางติดต่อ
- -
มีผู้เข้าชมจำนวน :658 ครั้ง
บันทึกข้อมูลเมื่อวันที่ : 19/02/2022 - ปรับปรุงล่าสุดวันที่ : 19/02/2022