ศาลเจ้าพ่อถ้ำกบ แม่สาย
美賽本頭古廟
ศาลเจ้าจีนที่ปรากฏอยู่ตอนเหนือสุดของแผ่นดินไทย ตั้งอยู่ริมถนนพหลโยธิน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ก่อนถึงด่านชายแดนไทย-พม่า อันเป็นจุดเหนือสุดของแผ่นดินไทยเพียง200เมตร
แต่เดิมนั้นว่ากันว่าบริเวณที่ตั้งศาลเจ้านั้นปรากฏเป็นโพรงถ้ำซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเชิงดอยเวาซึ่งอยู่ด้านหลังของศาลเจ้า ภายในถ้ำนั้นเป็นที่อยู่อาศัยของกบจำนวนมาก รวมทั้งมีหินลักษณะคล้ายรูปกบปรากฏอยู่ ผู้คนต่างนับถือว่าเป็นรูปกายของสัตว์เทพารักษ์อันเป็นบริวารของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยปกปักษ์รักษาดอยดังกล่าวและผู้คนในละแวกนี้
ต่อมาได้มีกลุ่มชาวไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่อำเภอแม่สายได้มีจิตศรัทธาร่วมกันสร้างสถานที่บูชาในลักษณะศาลเจ้าจีนขึ้น เพื่อเป็นที่เคารพสักการะของผู้คนในพื้นที่อำเภอแม่สายดังกล่าว อาคารศาลเจ้าจีนหลังแรกสร้างแล้วเสร็จและทำการเปิดศาลขึ้นในช่วงปี พ.ศ.2512
เมื่อชุมชนและกิจการค้าในพื้นที่ชายแดนอำเภอแม่สายขยายตัวมากขึ้น รวมทั้งมีการขยายถนนพหลโยธินช่วงชายแดนแม่สายดังกล่าวให้กว้างขึ้น คณะกรรมการและผู้ศรัทธาจึงร่วมกันสร้างอาคารศาลเจ้าหลังปัจจุบันจนแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2544 ดังปรากฏเป็นอาคารศาลเจ้าจีนที่สวยงามริมถนนพหลโยธินก่อนถึงด่านชายแดนแม่สายดังกล่าว
ภายในศาลเจ้าหลังปัจจุบันประดิษฐานเทวรูปเจ้าพ่อถ้ำกบเป็นองค์ ซึ่งที่ศาลเจ้าแห่งนี้บูชาประดุจดังเทพปุงเถ่ากง(本頭公) ซึ่งเทวรูปเจ้าพ่อเขากบที่นี่จะมีลักษณะแตกต่างจากเทวรูปเทพปุงเถ่ากงในที่อื่นๆที่มักจะมีลักษณะเป็นเทพเจ้าจีนทรงชุดนักรบแบบโบราณ แต่เทวรูปเจ้าพ่อถ้ำกบที่นี่จะมีลักษณะและเครื่องแต่งกายคล้ายเซียนหรือนักพรตจีนที่บำเพ็ญเพียรตามถ้ำหรือป่าเจาต่างๆ โดยที่ด้านหน้าองค์เทพดังกล่าวยังปรากฏเทวรูปกบอันเชื่อว่าเป็นรูปกายสัตว์เทพารักษ์ของศาลเจ้าแห่งนี้
นอกจากนี้ภายในศาลยังตั้งแท่นบูชาเจ้าแม่กวนอิม และแท่นบูชาเจ้าพ่อกวนอู อยู่ที่ด้านซ้ายและขวาอีกด้วย
ปัจจุบันศาลเจ้าพ่อกบเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวอำเภอแม่สายอย่างยิ่ง ไม่เฉพาะแต่ชาวไทยเชื้อสายจีนในอำเภอแม่สายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงชาวแม่สาย ชาวจีนที่อาศัยอยู่ในฝั่งท่าขี้เหล็กสหภาพเมียนม่า รวมถึงผู้คนต่างๆที่เดินทางไปมาและประกอบกิจการค้าในพื้นที่ชายแดนดังกล่าว ต่างให้ความเคารพศรัทธาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในศาลเจ้าพ่อกบแห่งนี้อย่างมาก รวมถึงที่ตั้งศาลเจ้าพ่อกบยังเปรียบเสมือนศูนย์กลางการพบปะสังสรรค์และรวมกลุ่มกันของบรรดาชาวไทยเชื้อสายจีนและผู้ประกอบกิจการค้าในอำเภอแม่สายที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง
....เดิมทีศาลเจ้าพ่อถ้ำกบเป็นพื้นที่ทางความเชื่อของชาวไทลื้อในแม่สายเดิมเป็นหอผีลักษณะเป็นหอผีเสื้อบ้านตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ๆมีลักษณะเป็นโพรงคล้ายถ้ำติดกับเหมืองแดงเป็นคลองข้างๆศาลโพรงหรือถ้ำนั้นเป็นที่อยู่ของกบและมีความเชื่อว่าถ้ำนี้ยาวทะลุไปจนถึงปากฝายตรงฝายโบราณที่ชักน้ำจากแม่น้ำสายเข้าหล่อเลี้ยงพื้นที่ทางการเกษตรที่มีในตำนานสิงหนติหรือตำนานเกี่ยวข้องกับเมืองพานคำ เมื่อแม่สายเจริญขึ้นมาพื้นที่ตรงศาลมีร้านค้าของชาวไทลื้อและค้าขายร่ำรวยเลยมีความเชื่อว่าหอผีนี้ค้าขายดีค้าแม่นขายหมาน
.....ต่อมาเมื่อชาวจีนอพยพเข้ามาค้าขายที่แม่สายจึงได้ซื้อที่ของชาวไทลื้อแล้วสร้างศาลเจ้าขึ้นมาเพื่อเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวจีนโพ้นทะเลที่มาทำการค้าขายที่แม่สาย และชื่อเสียงของหอผีนี้มีมาอยู่ก่อนแล้วชาวจีนจึงสถาปนาหอผีจากผีพื้นถิ่นผีพื้นเมืองให้กลายเป็นเจ้าพ่อหรือเจ้าอย่างจีนขึ้นมากรณีคล้ายกับหอเจ้าพ่อคำแดงบ้านไม้ลุงขนก็ได้รับการสถาปนาจ่กผีพื้นถิ่นกลายเป็นผีเมืองของแม่สายในปัจจุบัน ภายในศาลเจ้าพ่อถ้ำกบด้านซ้ายมือเป็นที่ศาลของเจ้าพ่อกวนอู ศาลกลางเป็นเจ้าพ่อถ้ำกบ และลำดับสามด้านขวามือเป็นที่ประดิษฐานองค์เจ้าแม่กวนอิม...
ตำนานที่ปรากฎการกล่าวถึงฝายแห่งนี้
“...พระองค์เชือง กษัตริย์เจ้าเสวยเมืองได้ 11 ปี แล้วท่านก็เสด็จไปสร้างเจดีย์ 1 กวมเกศาธาตุที่ถ้ำแก้วฝายสี่ตวงหนวันตกซ้วยเหนือนั้นก็กระทำบุญฉลองสำเร็จบัวระมวลในเดือน 6 เป็ง วันศุกร์ แล้วท่านก็มีพระราชอาญาใช้คนตังหลายขุดเหมืองใหญ่ต่อเอาน้ำแม่ใส(น้ำแม่สาย)นั้นออกมาเลี้ยงไร่นาแคว้นซายทังมวล แล้วก็เสด็จมาสู่เวียงอันเป็นที่อยู่แห่งตนแล...”
ตำนานสิงหนติกุมาร
เลขที่ : ดอยเวา ต. แม่สาย อ. แม่สาย จ. เชียงราย 57130
- นายชัชวาล นิธิพิพัฒโกศล
- ผศ.ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง : มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง : 2566 Open Call
- 0877877866