หมู่บ้านเวินบึกตั้งอยู่ในอำเภอโขงเจียม หมู่บ้านตั้งมาประมาณ 80 กว่าปีมาแล้ว โดยอพยพกันมาจากทางฝั่งลาว แต่ก่อนชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงเรียกคนกลุ่มนี้ว่า ข่า แต่พวกเขากลับเรียกตัวเองและภาษาของเขาว่า บรู ผู้ค้นพบกลุ่มชนที่พูดภาษาบูรในหมู่บ้านแห่งนี้คือนายเจอรี่ดับเบิลยู เกนีย์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2518 ปัจจุบันคนบรูส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในหมู่บ้านเวินบึกและบ้านท่าล้ง เขตอำเภอโขงเจียม คนที่นี้จะได้เห็นพระอาทิตย์ขึ้นก่อนใครในเมืองไทย หมู่บ้านเวินบึกตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง มีทัศนียภาพล้อมรอบสวยงาม ทั้งแม่น้ำและภูเขา ตามคำบอกเล่าหมู่บ้านเวินบึกเป็นหมู่บ้านที่จับปลาบึกได้มากสมชื่อ เพราะ "เวิน" ในภาษาอีสานหมายถึงบริเวณกว้างใหญ่ที่มีน้ำไหลวน ซึ่งแม่น้ำโขงช่วงที่ไหลผ่านหมู่บ้านนี้ก็เป็นเวินใหญ่ ในอดีตชาวบ้านจับปลาบึกได้เป็นประจำ เลยเรียกกันติดปากว่าบ้านเวินบึก ส่วนนักท่องเที่ยวนั้นรู้จักบ้านเวินบึกในฐานะที่ตั้งศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จฯ พระบรมราชินีนาถ จึงนิยมล่องเรือจากโขงเจียมมาชมวิวแล้วแวะซื้อผ้าทอลายสวยแล้วก็กลับ มีศาลาศุภลักษณ์สุรีย์ ซึ่งสร้างถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ คราวเสด็จฯ มาทรงงานศิลปาชีพ ณ ริมโขงตรงกลางหมู่บ้าน
หมู่บ้านเวินบึกถือเป็นหมู่บ้านสุดท้ายที่แม่น้ำโขงไหลผ่านก่อนที่จะไหลเข้าไปในแขวงจำปาสักของลาว ลำน้ำทั้งสายจะเป็นดินแดนลาว เส้นแบ่งเขตแดนไทย-ลาวก็จะเปลี่ยนจากร่องน้ำโขงมาเป็น แนวเขาบรรทัด ซึ่งเป็นเนินเขาเตี้ย ๆ ที่ชาวบ้านเดินไปมาหาสู่กันได้สบาย ปัจจุบันคงเหลือแต่ตำนานการจับปลาบึก และเอกลักษณ์เฉพาะตนทางวัฒนธรรมด้านภาษานั้นคือ ภาษาบรู และมีการสืบสานอนุรักษ์วัฒนธรรม โดยจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมขึ้น รวมทั้งมีการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ภาษาดั้งเดิมของตัวเอง แต่ก็พบว่าโดยทั่วไปกลุ่มคนรุ่นใหม่ในหมู่บ้านจะใช้ภาษาอีสานในการสื่อสารกันเป็นส่วนใหญ่จะมีก็แต่คนแก่คนเฒ่าที่ยังใช้ภาษาบูรพูดคุยกัน ชาวบ้านเวินบึกมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบชนบททั่วไปของชาวอีสาน มีอาชีพจับปลาซึ่งสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ มีงานหัตถกรรมจักรสานที่ขึ้นชื่อ
เลขที่ : ม.5 บ้านเวินบึก ต. โขงเจียม อ. โขงเจียม จ. อุบลราชธานี 34220
- สุทิศ พึ่งป่าและคณะ. (ม.ป.ป). การฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมบรูบ้านเวินบึก ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังห
- ดร.สายรุ้ง ดินโคกสูง : มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี : 2566 Open Call
- สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่นและสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล.