การทำประมงในช่วงฤดูแล้ง (มกราคม -เมษายน)
เป็นช่วงฝนทิ้งช่วงน้ำในแม่น้ำมูลมีปริมาณน้ำน้อยและน้ำค่อนข้างนิ่ง อาจเห็นเกาะแก่งโผล่พ้นน้ำ สภาพทางกายภาพของแม่น้ำมูลมีความหลากหลาย ได้แก่ ขุม เวิน คัน ถ้ำ แปวน้ำ ร่องน้ำลึก ร้องน้ำตื้น ชาวบ้านเรียนรู้การไหลของน้ำแต่ละพื้นที่ มีการพายเรือไปตามร่องน้ำเพื่อเข้าไปยังแก่งต่างๆ ปลาที่พบในช่วงนี้มีขนาดไม่ใหญ่ เป็นปลาที่ค้างอยู่ในแม่น้ำมูล ไม่อพยพหรืออพยพไปยังแม่น้ำโขงไม่ทัน เรียกว่า “ปลาค้างวัง” ชนิดของปลาที่พบได้แก่ ปลายอน ปลาเผาะ ปลาซวย ปลาขบ ปลาค้าว ปลานาง ปลาสร้อย ปลาปาก ปลากด ปลาแข้ ปลาอีก่ำ ปลาดุก ปลาหมอ ปลาเสือลายน้อย ปลาบู่และปลาช่อน (มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)
การทำประมงในช่วงฤดูฝน (พฤษภาคม-สิงหาคม)
ปริมาณน้ำไหลจากต้นน้ำจำนวนมาก มีการพัดพาตะกอนดิน สารอาหาร และสารพิษจากการเกษตร ทำให้น้ำขุ่นมากเรียกว่าฤดูน้ำแดง น้ำจะท่วมไปยังป่าบุ่ง ป่าทามและพื้นที่ราบลุ่มได้ ปลาจะมีการวางไข่และเกิดตัวอ่อนบริเวณป่าบุ่ง ป่าทามและลำน้ำสาขาของแม่น้ำมูล ช่วงนี้เป็นช่วงเดียวกับแม่น้ำโขงหนุนเข้ามาในแม่น้ำมูล ปลาจะมีการว่ายทวนน้ำเข้าสู่แม่น้ำมูล ชาวบ้านเรียนรู้ว่าปลาขนาดเล็กคือปลากดจะมีการอพยพเข้ามาในเดือนพฤษภาคม ในขณะที่ปลาขนาดใหญ่ได้แก่ ปลาเคิง ปลาเค้า จะอพยพเข้ามาในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ชาวจะเตรียมข่ายขนาดช่องตา 12-16 เซนติเมตร ชนิดปลาที่พบได้แก่ ปลากด ปลาค่าว ปลาซวย ปลาปึ่ง ปลาหนู ปลากระแหยง ปลานาง ปลาเคิง ปลายอย และปลาโจก
การทำประมงในช่วงปลายฤดูฝน (เดือนกันยายน-ธันวาคม)
ชาวบ้านจะรอถึงช่วงเดือนพฤศจิกายน ระดับน้ำในแม่น้ำมูลจะลดระดับลง ปลาที่วางไข่แล้วจะอพยพกลับไปยังแม่น้ำโขง เรียกว่า “ปลาล่อง” รวมทั้งลูกปลาที่เกิดในช่วงวางไข่จะมีการว่ายน้ำเป็นฝูง ช่วงนี้จะพบปลาหลากหลายชนิด ได้แก่ ปลาอีตู๋ ปลาซวย ปลาโจก ปลากด ปลาเสือ ปลาปึ่ง ปลาหนู ปลาคูณ ปลาชะโด ปลาก่า ปลาหลาด ปลาเลิน ปลากะแยง ปลาบู่ ปลาอีไห และปลานาง ในช่วงเดือนฟพฤศจิกายนนี้ชาวบ้านจะมาจับปลาบริเวณบ้านสะแบงเหนือจำนวนมาก ชาวบ้านมีการรวมเงินจ้างชาวประมงที่มีความสามารถในการดำน้ำเพื่อหาตำแหน่งของขอนไม้และก้อนหินและลากขึ้นไปบริเวณฝั่ง เรียกว่า ซาวลวง จากนั้นชาวบ้านจะขับเรือไปบริเวณเหนือน้ำของพื้นที่หมู้บ้าน แล้วปล่อยเรือไหลมาตามน้ำพร้อมกับมอง เรียกว่า “ไหลมอง”ปลาที่ว่ายน้ำมาปลาบริเวณมองจะเข้ามติดมองจำนวนมาก ได้แก่ ปลากาดำ และปลาเคิง ปลากด เมื่อจับปลาได้ชาวบ้านจะนำขายบริเวณริมฝั่ง ที่มีแม่ค้าคนกลางมารอรับซื้อและกำหนดราคาตามชนิดปลาซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำกันทุกหมู่บ้าน โดยเฉพาะหมู่ที่ 2 บ้านด่านใหม่ จะนำปลามาทำปลาร้า ปลาส้ม ทำเป็นสินค้าOTOP แล้วนำไปขายในตลาดสดโขงเจียมและขายไปต่างจังหวัดและตามงานต่างๆ
เลขที่ : ต. โขงเจียม อ. โขงเจียม จ. อุบลราชธานี 34220
- ดร.สุขวิทย์ โสภาพล
- sukhawit.s@ubu.ac.th : มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี : 2566 Open Call
-