บ้านหนองบัว
บ้านหนองบัวตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2440 ซึ่งราษฎรได้มีการอพยพมาจากบ้านหัวหนอง(ปัจจุบันอยู่บริเวณฝั่งทิศใต้ของหนองบัว)เนื่องมาจากมีเหตุการณ์โรคระบาดร้ายแรงคือโรคบักห่าง หรือโรคท้องร่วง ทำให้ผู้คนเสียชีวิตจำนวนมาก จึงได้อพยพมาตั้งที่บริเวณบ้านหนองบัวบัวปัจจุบัน สาเหตุที่เลือกพื้นที่เนื่องจากมีหนองน้ำขนาดใหญ่สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ตลอดทั้งปี ประกอบกับในหนองน้ำมีบัวแดงจำนวนมากจึงเป็นที่มาของการตั้งชื่อบ้านว่า “บ้านหนองบัว”(สัมภาษณ์นายณัฐวุฒิ อ่อนสุจันนา)
บ้านหนองบัว ตั้งอยู่ในเขตตำบลหนองกุง อำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม มีระยะทางห่างจากอำเภอแกดำประมาณ 21 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 2,202 ไร่ ซึ่งนับเป็นพื้นที่การเกษตรจำนวน 1,725 ไร่ พื้นที่อยู่อาศัยจำนวน 71 ไร่ ที่สาธารณะ 406 ไร่ สภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม เป็นดินร่านปนทราย
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับ บ้านหนองกุง หมู่ที่ 1 ตำบลหนองกุง
ทิศใต้ ติดกับ บ้านหัวนาคำ หมู่ที่ 9 ตำบลหนองกุง
ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านคำมะมายน้อย หมู่ที่ 11 ตำบลหนองกุง
ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านเสือกินวัว หมู่ที่ 3 ตำบลมิตรภาพ
บ้านหนองบัวในอดีตชาวบ้านมีอาชีพทำนาเป็นส่วนมากซึ่งการทำการเกษตรจนในช่วงทศวรรษ 2500 มีการส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 มีการส่งเสริมให้ชาวบ้านมีการปลูกปอ เพื่อส่งขายทำเชือก กระสอบ ทำให้ชาวบ้านหนองบัวมีการปลูกปอแทบทุกครัวเรือน จากพื้นที่บ้านหนองบัวที่มีป่ามากมายดังคำบอกเล่าของนางจริยา ศรีสวุทธิ์ว่า
“ตะกี้บ้านเฮานินำถนนหมู่เจ้าขี่รถเข้ามามีตะป่าเบิดนั้นละบ้านคนกะอยู่นำป่า นากะพากันถางเอาตะหม่องมันเฮดได้ พอปอมากะพากันถางเอาจนแปนพุ่นละย้อนอยากปลูกหลายๆไผปลูกหลายกะได้เงินหลายเด้ ปลูกแล้วไปแช่ยุหนองบัวพุ่นนะ”(สัมภาษณ์นางจริยา ศิริสุทธิ์)
การปลูกปอของชาวบ้านหนองบัวเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญทำให้เกิดการพัฒนาครั้งยิ่งใหญ่ของหมู่บ้านเนื่องจากมีการถากถางพื้นที่เพื่อทำการปลูกปอ ประกอบกับชาวบ้านเริ่มมีรายได้จากการขายปอ ส่งผลให้มีการเริ่มสร้างบ้านเรือน ปรับปรุงบ้านเรือนให้ดียิ่งขึ้น บ้านหนองบัวมีรายได้จากการขายปอแทบทุกครัวเรือน
ต่อมาในปี พ.ศ. 2518 มีการพัฒนาถนนเพื่อเชื่อมต่อกับตัวเมืองการพัฒนาครั้งนี้ชาวบ้านก็ได้รับผลของการพัฒนาคือการเดินทางสะดวกสบาย การค้าขายสะดวกมากยิ่งขึ้น ประกอบกับการสร้างถนนทำให้ชาวบ้านมีรายได้จากกรก่อสร้างคือมีการรับจ้างขุดถนน ขุดคลอง ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการทำเกษตรกรรม นอกจากนั้นยังมีการขุดลอกหนองบัวจากเดิมที่ตื้นเขินอยู่ให้ลึกมากยิ่งขึ้น แต่การขุดลอกครั้งนั้นเองทำให้บัวแดงซึ่งมีอยู่มากในอดีตมีน้อยลง แต่ปัจจุบันชาวบ้านเริ่มมีการฟื้นฟูโดยการนำบัวแดงเข้ามาปลูกใหม่เพื่อให้หนองบัวกลับมาสวยงามเหมือนเดิม(สัมภาษณ์นานงทองม้วน พวนมัชฌิมา)
ในปี พ.ศ. 2522 เป็นช่วงที่ชาวบ้านหนองบัวมีเงินมากจากการขายปอซึ่งในช่วงนี้เองปอราคากิโลกรัมละ 12 บาทนับว่าเป็นช่วงที่ราคาปอสูง ประกอบกับชาวบ้านหนองบัวปลูกปอจำนวนมากจนกระทั่งมีพ่อค้าคนกลางมาจับจองตั้งแต่อยู่แปลงปลูก ซึ่งมีชาวบ้านขายได้เงินสูงสุด 50,000 บาท และปอเริ่มมีราคาตกต่ำลงในปี พ.ศ.2526 ชาวบ้านหนองบัวจึงเลิกปลูกปอจากคำบอกเล่าของนางสังวาฬ โยปัดทุม ว่า
“ปี 22 แม่จำได้อยู่แม่ขายปอได้เงิน 50,000 ได้หลายกว่าหมู่ในบ้านหนองบัวนี่ ได้พากันเฮ็ดเฮียนหลังใหญ่ๆนี่กะเงินขายปอนี่ละ บ้านเฮาปลูกเบิดเนาะจากบ้านมีแต่ป่าพากันถางจนแปนเบิดย้อนเอาที่มาปลูกปอนี่ละปี 26 กะพากันเซาปลูกมันบ่เป็นราคา”(สัมภาษณ์นางสังวาฬ โยปัดทุม)
จากผลกระทบการเลิกปลูกปอนั้นทำให้ชาวบ้านหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างอื่นแทนตามนโยบายของรัฐบาล แต่ในช่วง พ.ศ.2530 ชาวบ้านหนองบัวส่วนมากเป็นผู้ชายเริ่มมีการเดินทางไปทำงานที่ต่างประเทศเช่น สิงคโปร์ ใต้หวัน ซาอุดิอาราเบีย เกาหลี มาเลเซีย เป็นต้น เพื่อเป็นการหารายได้เข้าหมู่บ้านซึ่งคนที่ไปทำงานต่างประเทศได้ส่งเงินกลับมาบ้านต่ำสุดคือ 20,000 บาทต่อเดือน หากใครทำงานที่บริษัทก็จะมีเงินส่งมาบ้านเดือนละหลายหมื่น ซึ่งตรงกับคำบอกเล่าของนายณัฐวุฒิ อ่อนสุจันนา ว่า
“ผมนี่ละไปเมืองนอกผุแรกไปเฮดงานยุใต้หวันครับ ผมไปเฮดงานยุโรงงานน้อยเลยได้เงินส่งเมือบ้านยุเดือนละ 20,000 นี่น้อยเด้ครับผุเขาไปทีหลังผมเขาได้หลายหมื่นุยเขายุโรงงานใหญ่ ได้เงินกลับบ้านผุละหลายเติม กลับมาเทื่อกะได้เงินซื้อรถ เฮ็ดเฮือน อย่างเห็นยุซุมื้อนี้ละ ผุมีลูกสองคนซื้อมอไซให้ผุละคันพุ่นละครับ”(สัมภาษณ์นายณัฐวุฒิ อ่อนสุจันทา)
ชาวบ้านหนองบัวนอกจากทำการเกษตรทำนา ปลูกพืชเศรษฐกิจเช่น อ้อยมันสำปะหลัง เมื่อว่างจากการทำการเกษตรแม่บ้านส่วนมากก็จะทำการทอผ้าซึ่งในอดีตเป็นการทอผ้าเพื่อนุ่งห่มธรรมดา บ้านหนองบัวเป็นหนึ่งบ้านที่มีชื่อเสียงทางการผลิตผ้าทอมือซึ่งในปี พ.ศ.2546 มีการตั้งกลุ่มทอผ้าขึ้นแรกเริ่มมีสมาชิก 30 คน เป็นการทอผ้าฝ้ายซึ่งส่งขายตามร้านตัดเย็บเสื้อผ้า ทอตามคำสั่งซื้อจากลูกค้าซึ่งส่วนมากเป็นวัยทำงาน ข้าราชการ ทำให้ชาวบ้านหนองบัวที่มีการทอผ้ามีรายได้จากการทอผ้าประกอบกับการทำการเกษตรไปด้วย
เลขที่ : บ้านหนองบัว ต. หนองกุง อ. แกดำ จ. มหาสารคาม 44190
- นายณัฐวุฒิ อ่อนสุจันนา
- มหาวิทยาลัยมหาสารคาม : มหาวิทยาลัยมหาสารคาม :
- -