FL-44190-00004
ประวัติชุมชนบ้านโนนภิบาล
ประเภทวัฒนธรรม
จับต้องไม่ได้ : InTangible.
หมวดหมู่วัฒนธรรม
วรรณกรรมพื้นบ้าน
FL:Folk Literature
ข้อมูล/ประวัติ
บ้านโนนภิบาล บ้านโนนภิบาลหมู่ 1 ตำบลโนนภิบาล จัดตั้งขึ้นเมื่อพ.ศ.2440 โดยการอพยพของชาวบ้านมาจากบ้านปอภาร ตำบลโคกล้าง อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด โดยการนำของพ่อตาแสงและพ่อขุนศรีภิบาล ครั้งแรกประมาณ 3 ครอบครัว และต่อมาเริ่มมีการอพยพมาเพิ่มประกอบกับมีจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น จึงได้มีการประกาศจัดตั้งหมู่บ้านขึ้นขึ้นโดยมีพ่อขุนศรีภิบาลเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก ซึ่งเริ่มแรกอยู่ในเขตการปกครองของตำบลมิตรภาพและตำบลหนองกุงอำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม ในระยะแรกพื้นที่เป็นป่าช้ามีพื้นที่ป่าจำนวนมาก สาเหตุของการย้ายมาตั้งที่บ้านโนนภิบาลเพราะเกิดโรคระบาดจึงอพยพย้ายถิ่นฐานมาตั้งบริเวณบ้านโนนภิบาลปัจจุบันตามคำบอกเล่าของนางนารี ภิบาลสิงห์ ว่า “แต่กี้พ่อใหญ่แม่ใหญ่เว้าสู่ฟังว่ามาตั้งบ้านนี้มีแต่ป่าช้าเลาะนี้เป็นป่าเบิดนั้นละ กะพากันเฮดเฮียนนำป่านี่ละไผนำก้นมากะมาจองเอาแล้วกะสร้างเอา หนีมาย้อนโรคบักห่างเดะแม่ใหญ่ลาวเว้าสู่ฟัง”(สัมภาษณ์นางนารี ภิบาลสิงห์) จากการตั้งบ้านเรือนเพิ่มขึ้นจำนวนมากและมีการตั้งบ้านเพิ่มมากขึ้นในปี พ.ศ.2490 สมัยพ่อตัน พันธุมีผู้ใหญ่บ้านคนที่ 5 มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของชุมชนโนนภิบาลเนื่องจากมีการจัดระเบียบพื้นที่หมู่บ้านโดยการตัดถนนผ่านหมู่บ้านให้เป็นระเบียบแบบตารางหมากรุก ทำให้หมู่บ้านมีความเป็นระเบียบดังเช่นทุกวันนี้ การจัดระเบียบในช่วงนั้นสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เลยก็ว่าได้การขีดเส้นถนนโดนบ้านเรือนผู้คนหลายหลัง แต่ด้วยความเต็มใจก็มีการย้ายบ้านเรือนออกเพื่อให้การตัดถนนเป็นระเบียบโดยไม่มีข้อโต้แย้งเลย ซึ่งตรงกับคำบอกเล่าของนางวรรณพง ภูครองทุ่งว่า “สมัยพ่อใหญ่ตันเป็นผู้ใหญ่บ้านนั้นเขาตัดถนนใหม่ตั้วให้หมู่บ้านมันเป็นระเบียบเรียบร้อย ตัดผ่าถืกเฮียนไผผุนั้นกะย้ายเฮียนหนีนั้นตั้ว อยากได้ถนนงามๆ แต่กะบ่มีไผขัดลาวเด้ละย้อนสมัยนั้นลาวฮ้ายเนาะปกครองได้ดียุตั้ว”(สัมภาษณ์นางวรรณพง ภูครองทุ่ง) ในช่วงทศวรรษ 2500 จากการเริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ทำให้ชาวบ้านได้รับข้อมูลของพืชเศรษฐกิจคือ ปอ ทำให้ชาวบ้านเริ่มมีการปลูกปอขึ้นในชุมชนเพื่อส่งขายให้กับพ่อค้าในเมือง ซึ่งบ้านโนนภิบาลจะนำไปขายให้พ่อค้าคนกลางที่บ้านหนองตื่น ตำบลเขวา อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม การปลูกปอปลูกหมดทุกคนเนื่องจากปอสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน ทำให้รู้จักการใช้เงินตรามากขึ้น จากบ้านโนนภิบาลที่ว่าเป็นป่าช้าก็ถูกถากถางพื้นที่เพื่อปลูกปอจนป่าบ้านโนนภิบาลแทบจะหมด ซึ่งตรงจากคำบอกเล่าของนายอุดม วิชาชัยว่า “สมัยปลูกปอนั้นพากันแข่งกันถางป่าตั้วไปมีแฮงถางได้หลายกะปลูกปอได้หลาย พอได้หลายกะมีเงินหลายตั้วบาดนิ พากันซื้อของมาสร้างบ้านสร้างเฮือนอยู่จนเท่าซุมื้อนี้ละ”(สัมภาษณ์นายอุดม วิชาชัย) นอกจากการปลูกปอแล้วนั้นชาวบ้านยังมีการปลูกยาเตอร์จี๊ดขึ้นในปีพ.ศ. 2513 ทำให้ชาวบ้านมีรายได้จากการขายยาเตอร์จี๊ดจำนวนมากซึ่งรายได้ต่อคนในการขายได้ถึง 100,000 บาททำให้ชาวบ้านเลิกปลุกปอแล้วมาปลูกยาเตอร์จี๊ดแทน ในปี พ.ศ.2520 มีการแยกหมู่บ้านหรือแยกเขตการแกครอง ซึ่งแยกออกจากตำบลหนองกุงเป็นตำบลโนนภิบาลพร้อมกับมีการตั้งที่พักสงฆ์หลวงปู่บุญสาร สังโข จากการตั้งหมู่บ้าน ตั้งสำนักสงฆ์ทำให้หมู่บ้านเริ่มมีการพัฒนาขี้นเรื่อยๆอย่างต่อเนื่อง การทอผ้าของบ้านโนนภิบาลมีมาตั้งแต่อดีตแล้วแต่ไม่มีการพัฒนาพัฒนาเป็นสินค้าแปรรูปไปแบบลำบากในปี พ.ศ.2546 มีการจัดตั้งกลุ่มทอผ้าขึ้นมีสมาชิกถึง 49 คนซึ่งมีการทอผ้าซิ่น สไบ ผ้าห่ม นอกจากนั้นยังมีกลุ่มทอเสื่อ นอกจากนั้นแล้วยังมีการพัฒนาป่าชุมชนบริเวณหน้าวัดป่ากุงโพธิสาร โดยบริษัทริเวอร์บราเทอร์ มาสนับสนุนการปลูกป่าชุมชนตั้งแต่เริ่มปลูกจนต้นไม้เติบใหญ่เป็นป่าชุมชนขึ้นมาใหม่ในปัจจุบัน การจัดตั้งกลุ่มทอผ้าทำให้มีผ้าทอเก็บไว้จำนวนมากและไม่ค่อยได้ส่งออกมากนักในปี พ.ศ.2559 จึงมีการจัดตั้งกลุ่มแปรรูปผ้าเป็นกระเป่าผ้าและมีกลุ่มทอผ้าขาวม้าขึ้นด้วย
ที่ตั้ง
เลขที่ : บ้านโนนภิบาล ต. โนนภิบาล อ. แกดำ จ. มหาสารคาม 44190
บุคคล/กลุ่มผู้ให้ข้อมูล
- นางนารี ภิบาลสิงห์
ผู้บันทึกข้อมูล
- มหาวิทยาลัยมหาสารคาม : มหาวิทยาลัยมหาสารคาม :
ช่องทางติดต่อ
- -
มีผู้เข้าชมจำนวน :682 ครั้ง
บันทึกข้อมูลเมื่อวันที่ : 19/02/2022 - ปรับปรุงล่าสุดวันที่ : 19/02/2022