กลุ่มบ้านชุมชนห้วยเกษม เดิมชื่อบ้านห้วยแห้ง เป็นชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่เข้ามาตั้งบ้านเรือนตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เรียกพวกกลุ่มตัวเองว่า “ฉะโล่คลู้” (มีการชื่อเรียกแบ่งกลุ่มชุมชนกะเหรี่ยงในสมัยก่อน 3 กลุ่ม ตามการตั้งถิ่นฐานโดยอ้างอิงจากสภาพตามธรรมชาติ ภูเขา และสันปันน้ำ) “ฉะโล่คลู้” คือกลุ่มคนกะเหรี่ยงที่อยู่ทางฝั่งเพชรบุรี จากพื้นที่ภูเขาอีต้อง เขาหินแผ่น เข้ามาทางฝั่งตะวันวันออกตามพื้นที่อำเภอปากท่อ ยางหัก หนองหญ้าปล้อง ยางน้ำกลัดเหนือ ยางน้ำกลัดใต้ ถึงปลายแม่น้ำแม่ประจันต์ หมู่บ้านห้วยเกษมมีชื่อเรียกเป็นภาษากะเหรี่ยงว่า “ที้โท่ใฮ้” แปลว่า น้ำแห้งกึ่งกลางลำห้วย มีชื่อหมู่บ้านเดิมว่า “ห้วยแห้ง” จนถึงในปี พ.ศ. 2515 ยุคสมัยนายอำเภอเขาย้อย นายธนวัฒน์ วีรธรรมพูลสวัสดิ์ ได้เดินทางมาเยี่ยมเยียนแล้วเห็นว่า หมู่บ้านห้วยแห้งมีความเป็นอยู่อย่างสงบเรียบง่าย ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ แต่ชื่อเรียกหมู่บ้านกลับสื่อถึงในทางตรงกันข้าม ‘ที่เรานั่งประชุมอยู่เป็นศาลาที่พักสงฆ์ มองลงไปเห็นลำห้วยหินเพิง น้ำไหลไม่ขัดสน ลำห้วยหินเพิงมีต้นน้ำอยู่เหนือหมู่บ้านลิ้นช้าง ไหลผ่านบ้านลิ้นช้าง บ้านห้วยแห้ง ไปที่บ้านทุ่งกระต่าย แล้วไหลจบกับห้วยแม่ประจันต์’ จึงสอบถามชาวบ้านที่เข้าร่วมประชุมถึงเอกลักษณ์ของหมู่บ้าน โดยชาวบ้านให้ข้อมูลว่า หมู่บ้านมีลำห้วยสายเล็กมาบรรจบเรียกเป็นภาษากะเหรี่ยงว่า “ปะลาเส้ง” หรือ “ปะลาเซ้ย” หมายถึงมีปลาดุกชุกชุม เป็นวังปลามีต้นหญ้าสดชื่นขึ้นเขียวชอุ่มทั้งปี ลำห้วยไม่แห้งแล้ง จึงขอเปลี่ยนจากชื่อบ้านห้วยแห้งเป็นบ้านห้วยเกษม เป็นชื่อที่เป็นมงคล สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ กลุ่มบ้านห้วยแห้งมีลักษณะพื้นที่ทางกายภาพเป็นป่าสลับภูเขา มีลำห้วยธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ในสมัยก่อน “ยุคเกวียนคนเดิน” หมู่บ้านห้วยแห้งเก่ามีจำนวน 70-150 หลังคาเรือนตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นป่าสูง (ปัจจุบันกลายเป็นที่ราบลุ่ม) ภูเขาด้านทิศเหนือเป็นภูเขาหัวล้าน เรียกภาษากะเหรี่ยงว่า “คุล่องจะเมิงเกริง” ทางทิศตะวันตกมีทางไปหมู่บ้านลิ้นช้าง บ้านพุน้ำร้อน ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านติดกับหมู่บ้านทุ่งกระต่าย มีศาลาพักสงฆ์ที่มีหลวงตาปลุกมาจำพรรษา (ช่วงปี พ.ศ. 2509-2513) มีเจดีย์เก่าที่ปัจจุบันได้ย้ายไปประดิษฐานที่วัดยางน้ำกลัดเหนือ มีต้นโพธิ์ใหญ่ขนาด 4-5 คนโอบ มีบ่อน้ำ 2 บ่อที่ชาวบ้านโพงน้ำขึ้นมาใช้อุปโภคบริโภคในช่วงหน้าแล้งเนื่องจากน้ำในลำห้วยแห้ง มีต้นผึ้งไม้กะเหรี่ยงอยู่กลางหมู่บ้านเป็นเอกลักษณ์ ปลูกต้นมะเดื่อหนาม ต้นดีปลี ที่มักปลูกกับต้นไม้ใหญ่ ด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้านติดกับเขามะเกลือ เป็นทางไปห้วยหินเพิง ภาษากะเหรี่ยงเรียกว่า “เห้ยเผลิ่งครู้” ปัจจุบันเป็นอุทยานน้ำตกแม่กระดังลา ถ้าเลี้ยวลงทิศใต้จะไปบ้านสะแกงาม บ้านท่าเสลา บ้านห้วยเกษมจึงเป็นเสมือนจุดกึ่งกลางทางเดินที่รุ่นปู่ย่าตายายจะขึ้นไปเที่ยวบ้านญาติที่บ้านตากแดดและบ้านท่ายาง ตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรีไปถึงฝั่งเทือกเขาตะนาวศรีได้ บางครั้งชาวบ้านก็เดินจากบ้านเอาพริกพรานกะเหรี่ยงและของในป่าไปแลกกับเกลือ กะปิ กุ้งจ่อม กับทางเขาย้อยหรือทางหัวสะพาน ที่ตั้งของหมู่บ้านห้วยแห้งเก่าจึงเป็นทางผ่านไปมาของชาวกะเหรี่ยงที่เดินเท้าทางเกวียนรถไม้มาจากฝั่งบ้านท่ายาง เพชรบุรีไปได้ไกลถึงบ้านบ่อ สวนผึ้ง ราชบุรี
เลขที่ : ต. ยางน้ำกลัดเหนือ อ. หนองหญ้าปล้อง จ. เพชรบุรี 76160
-
- นายประเสริฐ สุขแสนไกรศร : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี :
-