"ลานวัฒนธรรมชุมชนบ้านบางกะม่า เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2540 และใช้เวลา3 ปีในการสร้าง (สร้างเสร็จในปี 2543) ลานวัฒนธรรมแห่งนี้เกิดขึ้นเพื่อจัดงานผูกแขนเรียกขวัญกินข้าวห่อ เพื่อเปิดให้คนภายนอกได้เข้ามารับรู้ และเข้าใจวิถีชีวิตคนบนบางกะม่าว่าไม่ได้เป็นคนดุร้ายที่อยู่ในป่าเขา แต่เป็นคนที่มีวัฒนธรรม-มีวิถีการดำรงชีวิตในรูปแบบของตนเองที่ไม่ได้เบียดเบียนผู้คนและธรรมชาติ มีการใช้ชีวิตด้วยการเข้าป่า-ทำไร่ข้าว เป็นผู้ที่ช่วยดูแลพื้นดิน ดูแลธรรมชาติให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้ การจัดงานผูกแขนเรียกขวัญกินข้าวห่อที่ชุมชนบ้านบางกะม่าจึงเป็นการจัดขึ้นในรูปแบบที่เปิดให้คนภายนอก (คนจากในเมือง) ได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในงาน (ตามปกติ งานผูกแขนเรียกขวัญกินข้าวห่อ จะเป็นงานเฉพาะคนในครอบครัว) เป็นงานที่เกิดขึ้นเพื่อสื่อสารวัฒนธรรมกะเหรี่ยงบางกะม่าออกไปให้คนภายนอกได้รู้จักบางกะม่าในทางที่สวยงาม งานผูกแขนเรียกขวัญกินข้าวห่อที่บางกะม่าจะจัดในวัน แรม13ค่ำ และแรม14 ค่ำของช่วงสิ้นเดือน 9 (ทางจันทรคติ)
สภาพโดยทั่วไปของลานวัฒนธรรมนี้ เป็นลานสนามหญ้า มีอาคารเปิดโล่งขนาดเล็กอยู่ด้านหน้า 3 หลัง หลังหนึ่งเป็นอาคารสำหรับการประชุมหมู่บ้าน การจัดเสวนาพูดคุย ส่วนอีก2 อาคารเป็นพื้นที่จัดเตรียมอาหาร เวลามีงานรวมตัวกันในชุมชน และห้องน้ำ บริเวณทางเข้ามีสัญลักษณ์ของพื้นที่ คือ นกเงือก 2 ตัว (สัญลักษณ์ของชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกะม่า) โดยลานวัฒนธรรมชุมชนจะถูกใช้ในการจัดงานบุญข้าวใหม่ประจำปี ในช่วงเดือนธันวาคม ที่มีการจัดเสวนาเล่าเรื่องวัฒนธรรมกะเหรี่ยงจากปราชญ์ และครูภูมิปัญญากะเหรี่ยงจากหลากหลายพื้นที่ มีการแสดงรำ การเล่นดนตรีกะเหรี่ยง การทำอาหารกะเหรี่ยง มีการออกร้านขายสินค้าวัฒนธรรมกะเหรี่ยงของกลุ่มหัตถกรรมเครื่องเงิน ช้อนเงิน และกลุ่มทอผ้าจากบ้านหินสี นอกจากนี้ยังมี การจัดแข่งขันฟุตบอลแห่งยอดเขา เพื่อให้คนกะเหรี่ยง และคนภายนอกได้มาร่วมกันทำกิจกรรม ได้มารู้จักกัน ได้มาช่วยเหลือกัน โดยทีมต่างๆ ที่เข้าร่วมงานจะตั้งชื่อทีมตามเรื่องราวความผูกพันกับวัฒนธรรมกะเหรี่ยง และพื้นที่บ้านบางกะม่า อาทิเช่น ทีมบางกะม่า ทีมข้าวไร่ ทีมนกเงือก ทีมลานสเตย์ และทีมอะโวคาโด้
"
เลขที่ : ต. บ้านบึง อ. บ้านคา จ. ราชบุรี 70180
-
- นายประเสริฐ สุขแสนไกรศร : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี :
-