กลุ่มจักสานกระติบข้าว ผลิตภัณฑ์ที่สร้างชื่อเสียงให้ชุมชนบ้านไผ่ล้อม
การจักสานกระติบข้าว เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษสู่ลูกหลานในปัจจุบัน เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านจริงๆ เนื่องจากเกิดจากคนในชุมชนบ้านไผ่ล้อมจะบริโภคข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก การใช้กระติบข้าวเหนียวจึงมีความจำเป็นที่ทุกครอบครัวจะต้องมีเพื่อเก็บข้าวเหนียวที่นึ่งสุกแล้วให้ยังคงความร้อนนิ่มอร่อย ซึ่งเกิดจากความ ชาญฉลาดของชาวบ้านบ้านไผ่ล้อม ในการนำไม้ไผ่ที่มีอยู่ในชุมชนมาสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จากแรกเริ่มมีการใช้เพียงครัวเรือนและในชุมชน มีการออกแบบลวดลายโดยการลองผิดลองถูก จนเกิดมาเป็นลายที่มีชื่อว่า “ลายผิดถูก” ในปีพ.ศ. 2545 ได้มีนโยบายภาครัฐเข้ามาเพื่อส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น คนในชุมชนจึงมีการจัดตั้งกลุ่มจักสานขึ้น และได้มีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้ามาให้การสนับสนุนเป็นอย่างมาก
กลุ่มจักสานบ้านไผ่ล้อมมีการเรียนรู้การจัดการบริหารร่วมกัน มีการถ่ายทอดและสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่อยมาและกลุ่มได้มีดารพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์เรื่อยมา เช่น ลวดลาย วัสดุ เป็นต้น จากที่ตอนแรกมีแค่ลายผิดถูก ในปีพ.ศ. 2551 ได้มีการสร้างสรรค์และประยุกต์ลวดลายใหม่ๆให้เข้าบริบทสังคมในปัจจุบันเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดและผู้บริโภค ได้แก่ ลายพระบรมธาตุนาดูน ลายขิด ลายช้าง เป็นต้น สื่อถึงเอกลักษณ์ของความเป็นไทย อีสานและความศรัทธาต่อพระบรมธาตุนาดูน และกลุ่มจักสานบ้านไผ่ล้อมยังมีการพัฒนาในด้านรูปทรงจากในอดีตทำเป็นก่องข้าวแบบมีตีนสู่การพัฒนามาเป็นกระติบข้าวที่เห็นได้ในปัจจุบัน และมีการเสริมเปลี่ยนวัสดุจากที่เคยใช้ไม้ไผ่เป็นตีนกระติบข้าวก็เปลี่ยนมาเป็นพลาสติกเพื่อความแข็งแรงและคงทน กลุ่มจักสานได้มีการทำกระติบข้าวตามความต้องการของลูกค้า ลูกค้าสามารถเลือกลาย วัสดุ และสีได้เองตามต้องการ
เลขที่ : บ้านไผ่ล้อม ต. โนนภิบาล อ. แกดำ จ. มหาสารคาม 44190
- นายสำลี ประกอบคำ
- มหาวิทยาลัยมหาสารคาม : มหาวิทยาลัยมหาสารคาม :
- -