ตั้งอยู่เลขที่ 151 บ้านพระธาตุช่อแฮ หมู่ 1 ตำบลช่อแฮ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย เป็นโบราณสถานอันศักดิ์สิทธิ์ประจำจังหวัด สร้างขึ้นราวพุทธศักราช 1879-1881 ในสมัยของพระมหาธรรมราชาธิราชาลิไท ซึ่งเป็นพระมหาอุปราชปกครองเมืองศรีสัชนาลัยแห่งกรุงสุโขทัย มีเนื้อที่ 84 ไร่ 19 ตารางวา ภายในพระธาตุบรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระศอกด้านซ้าย และพระเกศาธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์พระธาตุเป็นเจดีย์ศิลปะเชียงแสน แบบแปดเหลี่ยม ย่อมุมไม้สิบสอง บุด้วยทองดอกบวบหรือทองจังโก สูง 33 เมตร ฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 11 เมตร องค์พระธาตุตั้งอยู่บนฐานเขียงสี่เหลี่ยม 1 ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดานแปดเหลี่ยม 3 ชั้นรองรับ ถัดไปเป็นฐานบัวคว่ำและชุดท้องไม้แปดเหลี่ยมซ้อนลดชั้นกันขึ้นไป 7 ชั้น จากนั้นเป็นบัวระฆัง 1 ชั้น และหน้ากระดาน 1 ชั้น จนถึงองค์ระฆัง 8 เหลี่ยม ถัดขึ้นไปเป็นบัลลังก์ย่อมุมไม้สิบสองและปล้องไฉนส่วนยอดฉัตรประดับตกแต่งด้วยเครื่องบนแบบล้านนา
พระธาตุช่อแฮ มีตำนานเล่าสืบต่อมาว่า เมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้พระสัพพัญญูตัญญาณได้ 25 พรรษาแล้ว ครั้งที่ประทับอยู่ที่เชตวันมหาวิหารนั้น คืนหนึ่งพระองค์ก็รำพึงว่า พระองค์ก็ทรงมีอายุ 60 พรรษาแล้ว เมื่ออายุแปดสิบ พระองค์จะปรินิพพาน จึงคิดว่าควรอธิษฐานธาตุของพระองค์ให้เป็น 3 ส่วน แจกให้เทวดาและมนุษย์เอาไว้กราบไหว้บูชา เพราะสัตว์โลกยังเห็นพระองค์ไม่ทั่วถึง และพระองค์จะอธิษฐานให้ธาตุของพระองค์ ไปสถิตอยู่ยังสถานที่อันสมควร เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ 218 ปี พระเจ้าธรรมาโศกราช(หรือพระเจ้าอโศก) กับท้าวพญาต่างๆ ในชมพูทวีปก่อพระเจดีย์ 84,000 องค์ แล้วอัญเชิญพระธาตุมาบรรจุ และอธิษฐานอัญเชิญไปสถิตยังสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงหมายไว้ พระธาตุก็เสด็จลอยไปทางอากาศไปยังที่นั้นๆ พระอรหันต์ทั้งหลายกล่าวว่า เจดีย์องค์หนึ่งจะตั้งอยู่ในพลนคร บนดอยโกสิยธชคบรรพตทิศตะวันออกของแม่น้ำยมุนา คือ แม่น้ำยม เมื่อบรรจุพระธาตุศอกซ้ายที่ดอยดังกล่าวแล้ว มีพระอรหันต์ 7 องค์ พญา 5 องค์เป็นผู้อุปถัมภ์ แล้วทำการสักการะบูชาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และพระธาตุก็มักกระทำปาฏิหาริย์อยู่เสมอ ต่อมาเมื่อพญาลิไทได้ยกพลมายังเมืองแพร่ เพื่อปฏิสังขรณ์เจดีย์บนดอยโกสิยธชคบรรพต เมื่อกลับไปถึงบ้านกวาง (ในท้องที่อำเภอสูงเม่นปัจจุบัน) ช้างซึ่งบรรทุกของได้ลมเชือกหนึ่ง จึงให้เฉลี่ยของไปบรรทุกช้างเชือกอื่น ในที่นั้นได้ชื่อว่า "บ้านกวานช้างมูบ" แล้วไปพักที่ดอยจวนแจ้ง เมื่อจัดที่พักแก่ข้าราชบริพารสตรีและบุรุษแล้ว ก็ปฏิสังขรณ์เจดีย์ดังกล่าวจนแล้วเสร็จจึงเสด็จกลับ ต่อจากนั้นมาเจ้านายไพร่ฟ้าประชาชนก็ร่วมแรงร่วมใจกันบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุช่อแฮมาตราบเท่าทุกวันนี้
เลขที่ : ต. ช่อแฮ อ. เมืองแพร่ จ. แพร่ 54000
- พระครูภาวนาเจติยานุกิจ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธาตุช่อแฮ
- doungporn.bee : มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ :
- 065-6251999