AR-93130-00001 [ ได้รับทุนจากโครงการ ]
วัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว
Wat Khien Bang Kaeo
ประเภทวัฒนธรรม
จับต้องได้ : Tangible.
หมวดหมู่วัฒนธรรม
สถาปัตยกรรม
AR:ARchitecture
ศาสนสถาน
ข้อมูล/ประวัติ
เวียงกลางบางแก้ว ในอดีตมีวัดถึง ๒๙๘ วัดที่อยู่ภายใต้การดูแลของวัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง วัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว(วัดตะเขียนบางแก้ว) อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง พระอารามหลวงที่คงร่องรอยในเรื่องราวของเมืองพัทลุง วัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว(วัดตะเขียนบางแก้ว) อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง ถือเป็นพระอารามคู่บ้านคู่ เมืองชาวพัทลุงมาอย่างช้านาน มีองค์เจดีย์ุที่ตั้งตระหง่านเป็นประธานแลเห็นโดดเด่นจากที่ไกล เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธศาสนิกชนชาวลุ่มน้ำทะเลสาป ตลอดจนชาวพัทลุงทั้งหลายมาตั้งแต่ในอดีต ตราบจนถึงปัจจุบันไม่ว่าจะในส่วนของด้านราชการงานเมือง หรือ ในด้านของประชาชนทั่วไปก็ตาม ล้วนแต่นับถือกันว่า พระบรมธาตุ วัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว เป็นพระบรมธาตุที่มีความเก่าแก่ และ เป็นที่กราบไหว้บูชาของพุทธศาสนิกชนชาวลุ่มน้ำมาอย่างช้านาน อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในวัดที่ “ นางเลือดขาว ” มหาอุบาสิกาแห่งดินแดนคาบสมุทรทะเลใต้ เป็นผู้สร้างร่วมกันกับ “ พระยากุมาร ” นายที่ผูกส่วยช้างผู้เป็นสามี ที่ได้สถาปนาพระอารามเขียนบางแก้วขึ้นมา ซึ่งมีอายุไปสอดคล้องกับ “ พระมหาธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ” มหาพุทธสถูปแห่งภาคใต้ พบว่ามีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันอย่างน่าประหลาดใจ สำหรับประวัติของวัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้วที่ชัดเจนสุดก็เห็นจะมีแต่ที่บันทึกไว้ใน “ เพลานางเลือดขาว ” ซึ่งได้ถูกผนวกไว้ใน “ พงศาวดารเมืองพัทลุง ” ที่เรียบเรียงโดย “ หลวงศรีวรวัตร ” ( พิณ จันทรโรจนวงศ์ ) ลูกหลานของเจ้าผู้ครองเมืองพัทลุง ก่อนจะถูกนำมาตรวจทาน เรียบเรียงใหม่อีกครั้ง โดย ขุนสิกขกิจบริหาร ธรรมการจังหวัดพัทลุงในยุคนั้น ( ธรรมการ ก็คือ ศึกษาธิการในสมัยนี้ ) ได้รวบรวมเอาเพลาวัด ( หนังสือที่บอกประวัติความเป็นมาของวัด ขอบเขตที่ดินวัด และ ข้าทาสบริวาร ผู้คนที่เป็นข้ารับใช้วัด ) ตลอดจนบันทึกกัลปนาฉบับต่างๆ เรื่องราวของเจ้าเมืองพัทลุงในแต่ละยุคสมัย มาเรียบเรียงเข้าด้วยกัน จนเป็นพงศาวดารประจำเมืองพัทลุง ที่บ่งบอกประวัติความเป็นมาของวัดพระธาตุตะเขียนบางแก้วที่ชัดเจนที่สุด จากการสรุปประวัติ ความเป็นมาของวัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้วที่มีบันทึกในพงศาวดารเมืองพัทลุง พอจะสรุปความได้ว่า วัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว #ถูกสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ ( ในพงศาวดารระบุว่า ปี พ.ศ. ๑๔๙๒ ) โดย พระยากุมาร และ นางเลือดขาว บุตรและบุตรี ของตาสาโม ยายเพชร หมอสะดำนายกองช้างที่คล้องช้างถวายเจ้าพระยากรุงทอง ผู้ครองเมืองสทิงพาราณสี ( ปัจจุบันคือ บ้านในเมือง อ.สทิงพระ จ.สงขลา ) โดยพระยากุมาร กับ พระนางเลือดขาว ได้นำสมัครพรรคพวกที่เป็นชาวกองช้าง มายังโคกบางแก้ว และได้สร้างวัดเขียนบางแก้วขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจาก เจ้าพระยากรุงทอง ผู้เป็นนายเหนือหัวของมหาอุบาสก มหาอุบาสิกาทั้งสอง ได้ร่วมกันสร้างพระอารามในวัดทั้ง ๓ อันได้แก่ #วัดสทังใหญ่ , #วัดเขียนบางแก้ว และ #วัดพระเชตุพลกับพระมหาธาตุที่สทิงพาราณสี ( สันนิษฐานว่าเป็นวัดจะทิ้งพระ อ. สทิงพระ จ. สงขลา ) และ พระยากุมาร กับ นางเลือดขาว มหาอุบาสก มหาอุบาสิกาผู้ใจบุญ ได้ออกเดินทางไปยังเมืองตรัง ไปสร้างวัดพระบรรทม ( สันนิษฐานว่าเป็นวัดถ้ำพระพุทธ อ. รัษฎา จ.ตรัง เพราะกรมศิลปากรตรวจสอบแล้วว่ามีอายุเก่าแก่ถึงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ ) และ ได้ไปสร้างวัดต่างๆ ในเมืองนครศรีธรรมราช จนกระทั้งได้ไปร่วมสร้างพระมหาธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ( ในพงศาวดารเมืองพัทลุงเรียก “ ยังพระสารีริกธาตุ ” ) กับ เจ้าพระยาศรีธรรมโศกราช และ โอรสของพระยาศรีธรรมโศกราชองค์เก่า ก่อนที่นางเลือดขาวจะเดินทางไปยังกรุงศรีอยุธยามหานครฝ่ายเหนือ ( เมื่อตรวจสอบจากยุคสมัยแล้ว กรุงศรีอยุธยาในตำนานเพลานางเลือดขาว อาจเป็นเมืองละโว้ หรือ เมืองในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา มากกว่ากรุงสุโขทัยตามที่พงศาวดารสันนิษฐานไว้ เพราะในเวลานั้น สุโขทัยมีชื่อว่า “ แคว้นพาลีราช ” ยังเป็นแค่หัวเมืองธรรมดา ที่ยังไม่ได้มีอำนาจกว้างขวางมากพอจะที่แผ่ลงไปถึงทางใต้ได้ ) โดยการเชิญของพระยาพิษณุโลก และ แม่นางทองจันทร์ เมื่อไปถึงกรุงศรีอยุธยา พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาทรงทราบว่า นางเลือดขาวมีสามี อีกทั้งมีบุตรติดในครรภ์จึงเกิดความละอายแก่พระทัย จึงเลี้ยงไว้ในที่ของพระนางเมือง จนกระทั่งบุตรของนางเลือดขาวจำเริญวัยพอจะรู้ความแล้ว พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา ( อาจเป็นพระเจ้ากรุงละโว้ ) จึงขอรับเลี้ยงบุตรของพระนางไว้เป็นพระโอรสบุญธรรม ก่อนที่นางเลือดขาวจะเดินทางกลับมาสู่เมืองพัทลุง และได้อาศัยอยู่ร่วมกับพระยากุมารจนกระทั่งถึงแก่กรรมเพราะความชรา เจ้าฟ้าคอลายได้ลาพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาผู้เป็นพระราชบิดาบุญธรรมลงมา สร้างพระอาราม ตลอดจนพระพุทธปฎิมาสืบต่อจากบิดามารดาที่ให้กำเนิดจนกระทั่งสิ้นชีพลง และเรื่องราวหลังจากนั้นก็ไม่อาจสืบได้ เพราะความในพงศาวดารเมืองพัทลุงได้ขาดช่วงขาดตอนลงจนกระทั่งในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ได้ทรงแต่งตั้งพระภิกษุสามีอินทร์ บุตรปะขาวสนกับนางเป้าชาวบ้านวัดสะทัง ให้เป็น พระครูอินทโมฬีศรีนันทราชฉัททันต์จุฬามณีฯ เจ้าคณะป่าแก้วเมืองพัทลุง พร้อมกับถวายพื้นที่กัลปนา สำหรับพระพุทธ ศาสนา ตลอดพระอารามใหญ่น้อย ตั้งแต่ทางตอนใต้ของนครศรีธรรมราช ทางฝั่งเมืองพัทลุงเก่า ( เมืองพัทลุงในขณะนั้นตั้งที่ อ.สทิงพระ จ.สงขลา ) และทางฝั่งทางตะวันตกของทะเลสาป ให้เป็นวัดที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของ วัดสทังใหญ่ และ #วัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้วซึ่งมีจำนวนวัดภายใต้การบังคับบัญชาถึง ๒๙๘ วัด มีวัดสำคัญ ตามที่พงศาวดารเมืองได้ระบุไว้ดังนี้ คือ วัดคูหาสรรค์ , อารามพิกุล , วัดสทิงมหาธาตุเจดีย์ใหญ่ , วัดพระเจดีย์งาม , วัดชะแม, วัดกลาง , วัดพะเจียก, วัดโรงน้อย , วัดโรงใหญ่ , วัดพะตาล , วัดเหียงพง , วัดพระครูไชยพัท, วัดตำเสา , วัดสนามไชย , วัดโตนดหลาย , วัดพังยาง , วัดชะแล้ , วัดแจระ , วัดพระนอนปากบางแก้ว ,วัดพยา, วัดแหลม , วัดพระพุทธสิหิงค์ที่ตรัง และ วัดพระงามที่ตรัง #ต่อมาในรัชสมัยของสมเด็จพระเอกาทศรถ เมืองพัทลุงที่สทิงพระก็ถูกโจรสลัดอุฌงคตนะ ( #กลุ่มโจรสลัดจากเมืองยี่หน หรือ ยะโฮร์บารูในปัจจุบัน ) เข้าปล้นตีชิงทรัพย์สิน เผาบ้านเมืองจนเสียหายมหาศาลเกินกว่าที่จะใช้ว่าราชการเมืองได้ ทางกรมการเมืองพัทลุงจึงได้ย้ายเมืองเข้ามาทางตะวันตกของทะเลสาป และมีการกราบบังคมทูลต่อสมเด็จพระเอกาทศรถ เพื่อขอพระราชทานทรัพย์ในการบูรณะพระอารามที่เสียหายจากการคราวโจรสลัดปล้นเมือง จะเป็นไปได้หรือไม่ที่วัดพระธาตุตะเขียนบางแก้วในคราวนั้น อาจได้รับการบูรณะพร้อมกับวัดอื่นๆ เพราะได้รับผลกระทบจากภัยโจรสลัดด้วยการบูรณะวัดตะเขียนบางแก้วครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง เกิดขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ ( สมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี หรือ พระเจ้าเสือ ) โดยการร้องเรียนของ พระครูอินทรเมาฬีศรีญาณสาครบวรนนทราชจุฬามุนีศรีอุประดิษเถรเจ้าคณะป่าแก้วเมืองพัทลุง ไปยังพระสังฆราชเจ้าป่าแก้วที่วัดเจ้าพระยาไทยอารามหลวง เพื่อขอพระราช ทานกัลปนา ตลอดจนข้าทาสคนวัดทั้งหลายเป็นดั่งเดิมในยุคสมัยครั้งแผ่นดินก่อนๆ สมเด็จพระสรรเพชญที่ ๘ ( พระเจ้าเสือ ) จึงทรงพระราชทานให้ตามที่ พระครูอินทรเมาฬีฯ ได้กราบทูลไปทุกประการ แม้ว่าพงศาวดารเมืองพัทลุงจะไม่ได้ระบุว่า ในช่วงรอยต่อปลายกรุงศรีอยุธยา จนถึงกรุงธนบุรี และ กรุงรัตนโกสินทร์ ทางคณะสงฆ์ตลอดจนข้ากัลปนาจะได้มีการจัดการอย่างไรกับวัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว แต่เมื่อได้สำรวจพิธีกรรมการบูชา “ ทวดเพลา ” ของชาวบ้านแถบวัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว ก็พอทำให้ทราบได้ว่า กัลปนาและ ที่ดินของวัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว คงยังเหลือเพียงแค่ในความทรงจำ และพิธีกรรมของชาวบ้านที่เป็นลูกหลานผู้รักษา “ เพลา ” หรือ “ หนังสือกัลปนาพระอาราม ” ที่ไม่ได้รับการปฎิบัติอย่างเป็นจริงเป็นจังอีกต่อไป และวัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้วเอง ก็เคยรกร้างไปชั่วระยะหนึ่งในคราวต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ก่อนที่จะได้รับการบูรณะ จนมีพระภิกษุจำพรรษาในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นต้น มาจนถึงในปัจจุบัน จากประวัติที่ได้นำเสนอในข้างต้น ที่ได้หยิบยกมาจากพงศาวดารเมืองพัทลุงมาขยายความให้เห็นถึงความสำคัญของวัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้วนั้น จะเห็นได้ว่า วัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว ได้ผ่านทั้งความเจริญ ความร่วงโรยอย่างถึงขีดสุดมาแล้ว และไม่ว่าสถานการณ์บ้านเมืองจะร้ายแรงขนาดไหน พระศาสนาก็ย่อมเป็นที่พึ่งพิงทางจิตใจอยู่เสมอ วัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว จึงยังคงยืนหยัดอยู่ได้ ด้วยศรัทธาของพุทธศาสนิกชนชาวพัทลุง ตลอดจนลูกหลานในลุ่มน้ำทะเลสาป ที่มั่นคงในพุทธศาสนาอยู่ไม่เสื่อมคลาย


ที่ตั้ง
เลขที่ : จองถนน ต. จองถนน อ. เขาชัยสน จ. พัทลุง 93130
บุคคล/กลุ่มผู้ให้ข้อมูล
-
ผู้บันทึกข้อมูล
- สุรสิทธิ์ ศรีสมุทร : มหาวิทยาลัยทักษิณ :
ช่องทางติดต่อ
-
มีผู้เข้าชมจำนวน :384 ครั้ง
บันทึกข้อมูลเมื่อวันที่ : 20/12/2022 - ปรับปรุงล่าสุดวันที่ : 20/12/2022