AR-84110-00007 [ ได้รับทุนจากโครงการ ]
แหล่งเรียนรู้ชุมชนตามรอยพุทธทาสภิกขุ
ประเภทวัฒนธรรม
จับต้องได้ : Tangible.
หมวดหมู่วัฒนธรรม
สถาปัตยกรรม
AR:ARchitecture
พิพิธภัณฑ์
ข้อมูล/ประวัติ
แหล่งเรียนรู้ชุมชนตามรอยพุทธทาสภิกขุ ตั้งอยู่ ณ วัดโพธาราม ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี สร้างขึ้นโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีร่วมกับชุมชนพุมเรียง ได้รับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินการจากรัฐบาล จำนวน ๕ ล้านบาท เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๗ โดยการบูรณะซ่อมแซมอาคารเก่าซึ่งมีอายุ ๙๖ ปี ของโรงเรียนวัดโพธาราม (โพธิพิทยากร) โรงเรียนประจำอำเภอเมืองไชยา มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นสถานที่จัดแสดงศิลปวัตถุ และประวัติศาสตร์ชุมชน รวมทั้งเป็นสถานที่สำหรับแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น วัดโพธารามเป็นวัดเก่าแก่มีอายุประมาณ ๓๐๐ ปีเศษ ตั้งอยู่ ณ บ้านพุมเรียง ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี บริเวณวัดตั้งอยู่บนเนินทรายใกล้ปากน้ำพุมเรียง ห่างจากทะเลประมาณ ๑ กิโลเมตรวัดแห่งนี้เป็นศูนย์กลางของชุมชนพุมเรียงเนื่องจากเป็นที่พำนักของพระครูรัตนมุนีศรีสังฆราชาลังกาแก้ว เจ้าคณะใหญ่เมืองไชยา ประมุขแห่งสงฆ์เมืองไชยา ต่อเนื่องกันมายาวนานราว ๑๐๐ ปีเศษ อีกทั้งยังเป็นสำนักเรียนพระพุทธศาสนาและภาษาบาลีที่สำคัญของภาคใต้ตอนบน ดังได้พบหลักฐานสำคัญเป็นประจักษ์พยาน ได้แก่ คัมภีร์ใบลานจารเรื่องราวในพระพุทธศาสนาจำนวนมาก ได้มีการสำรวจพบตำราเรียนไวยากรณ์ภาษาบาลีที่เก่าแก่ มีอายุ ๓๒๕ ปี ชื่อ คัมภีร์มูลกัจจายน ซึ่งจารขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๓ ในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชาแห่งกรุงศรีอยุธยา ดังนั้น เมื่อมาถึงยุคสมัยที่สยามต้องปรับตัวให้เข้ากับนานาอารยประเทศและปรับปรุงประเทศให้ทันสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งพระราชวงศ์จักรี ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีพระราชดำริให้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นทั่วพระราชอาณาจักร โรงเรียนประจำอำเภอเมืองไชยา มณฑลสุราษฎร์ธานี จึงได้จัดตั้งขึ้น ณ วัดโพธาราม เมื่อพ.ศ.๒๔๔๓ อาศัยหอสวดมนต์ของวัดโพธารามเป็นสถานที่ทำการสอน โดยมีพระครูคณานุกูล (ทับ สุวรรณ) เจ้าอาวาสวัดโพธารามเป็นครูใหญ่ ต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๐ พระครูคณานุกูลดำริที่จะสร้างโรงเรียนให้เป็นอาคารเอกเทศ จึงปรึกษากับศิษย์เก่าและอำมาตย์โทหลวงประเทศวุฒิสาร ธรรมการมณฑลสุราษฎร์ธานี เพื่อดำเนินการและกำหนดแบบแปลนอาคาร โดยท่านอำมาตย์เอกพระยาคงคาธราธิบดี สมุหเทศาภิบาลมณฑลสุราษฎร์ธานีเป็นผู้แนะนำและแก้ไขแบบแปลน พร้อมทั้งได้บริจาคกระเบื้องมุงหลังคา พระครูคณานุกูลจึงจัดหาไม้และขอแรงบรรดาช่างไม้ในตำบลพุมเรียง ช่วยกันจัดสร้างอาคารตามรูปแบบสถาปัตยกรรมอันเป็นที่นิยมในสมัยนั้น เป็นอาคารขนาดกว้าง ๘.๒๐ เมตร ยาว ๑๗.๒๐ เมตร มีมุขกลางขนาด ๕x๕ เมตร สร้างด้วยไม้เนื้อแข็งที่หาได้ในท้องถิ่น จุนักเรียนได้ประมาณ ๘๐-๑๐๐ คน สร้างเสร็จเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๒ นับเป็นอาคารเรียนที่สร้างเสร็จสมบูรณ์ด้วยวัสดุ ความเชื่อ และภูมิปัญญาท้องถิ่น สามารถสะท้อนถึงรูปแบบสถาปัตยกรรมแห่งยุคสมัย ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนตั้งแต่กระบวนการแรกจนกระทั่งเสร็จสมบูรณ์ อาคารเรียนแห่งนี้ได้ทำหน้าที่รับใช้ชุมชนเป็นสถานที่เล่าเรียนของกุลบุตรกุลธิดา เป็นโรงเรียนเพียงแห่งเดียวของชุมชน ซึ่งประกอบด้วยประชากรที่นับถือศาสนาพุทธประมาณร้อยละ ๖๐ นับถือศาสนาอิสลามประมาณร้อยละ ๔๐ เป็นศูนย์รวมในการทำกิจกรรมร่วมกันของประชากรทั้งสองศาสนา รวมทั้งเป็นที่ศึกษาเล่าเรียนของเด็กชายเงื่อม พานิช ซึ่งต่อมาก็คือ พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินทปัญโญ) หรือพุทธทาสภิกขุ ผู้ก่อตั้งสวนโมกขพลาราม หรือวัดธารน้ำไหล สถานที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาระดับนานาชาติที่สำคัญแห่งหนึ่งในประเทศไทย เป็นสมณปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้มีบทบาทอย่างสูงต่อพระพุทธศาสนา ซึ่งต่อมาท่านพุทธทาสภิกขุได้รับการประกาศยกย่องจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก เมื่อพ.ศ.๒๕๔๘ เมื่อพ.ศ.๒๕๐๐ โรงเรียนวัดโพธารามได้ย้ายไปยังสถานที่แห่งใหม่ อาคารโพธิพิทยากรแห่งนี้ถูกใช้เป็นสถานที่ทำการอื่นๆ ของรัฐบาล อาทิ สุขศาลา และที่ทำการของเทศบาลตำบลพุมเรียง ต่อเนื่องมาอีกราว ๆ ๓ ทศวรรษ หลังจากนั้นก็ถูกปล่อยทิ้งร้างให้ชำรุดทรุดโทรมมาราว ๆ ๒๐ ปี เมื่อพ.ศ.๒๕๕๔ ประชาชนในชุมชนพุมเรียงและเทศบาลตำบลพุมเรียง มีความต้องการจะบูรณะอาคารหลังนี้เพื่อเป็นการอนุรักษ์และนำมาใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมและยั่งยืน จึงได้ปรึกษากับมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีและผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี จากการประชุมปรึกษาหารือระหว่างชุมชน เทศบาลตำบลพุมเรียง มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี และสำนักงานจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้แนวทางในการดำเนินงาน ดังนี้ ๑.ดำเนินการอนุรักษ์อาคารโพธิพิทยากร ซึ่งเป็นอาคารสาธารณะเพียงแห่งเดียวของชุมชน ที่เป็นอนุสรณ์แห่งความทรงจำถึงเรื่องราวของความร่วมแรงร่วมใจกันของทุกภาคส่วนในการสร้างอาคารหลังนี้ และรูปแบบสถาปัตยกรรมก็แสดงออกถึงรูปแบบความนิยมแห่งยุคสมัย เป็นประโยชน์ในด้านการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมของท้องถิ่นและประเทศไทย มอบหมายสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ โดยปรึกษาร่วมกับกรมศิลปากร ๒.ใช้อาคารและสถานที่แห่งนี้เป็นอนุสรณ์สถานให้รำลึกถึงพระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินทปัญโญ) หรือพุทธทาสภิกขุ ผู้ได้รับการประกาศยกย่องจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก รวมทั้งเป็นอนุสรณ์สถานแก่ผู้คนในชุมชนที่เคยศึกษาเล่าเรียน ณ อาคารโพธิพิทยากร ทั้งผู้ที่นับถือศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม ๓.ใช้อาคารและสถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชน โดยการจัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่สะท้อนถึงประวัติศาสตร์ชุมชนซึ่งพบเป็นจำนวนมากในวัดโพธาราม อาทิ พระพุทธรูป พระบฏ ผ้าโบราณ เครื่องถ้วยชาม เครื่องใช้ทำจากโลหะ ตู้ลายรดน้ำ คัมภีร์ใบลานบันทึกเรื่องราวในพระพุทธศาสนา สมุดไทยบันทึกความรู้ด้านต่างๆ เช่น การแพทย์ โหราศาสตร์ นวดไทย วรรณคดี นิทานพื้นบ้าน จัดแสดงเรื่องราวถ่ายทอดประวัติศาสตร์ชุมชนผ่านสื่อต่างๆ อาทิ ภาพถ่ายเก่า รวมทั้งใช้เป็นสถานที่สำหรับแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น อาทิ การทอผ้า การจักรสาน วิถีท้องถิ่น


ที่ตั้ง
เลขที่ : หมู่ที่ 3 ต. พุมเรียง อ. ไชยา จ. สุราษฎร์ธานี 84110
บุคคล/กลุ่มผู้ให้ข้อมูล
- นายธีรพันธุ์ จันทร์เจริญ
ผู้บันทึกข้อมูล
- ธีรพันธุ์ จันทร์เจริญ : มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฏร์ธานี :
ช่องทางติดต่อ
- โทรศัพท์ 0870394491สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
มีผู้เข้าชมจำนวน :614 ครั้ง
บันทึกข้อมูลเมื่อวันที่ : 28/03/2023 - ปรับปรุงล่าสุดวันที่ : 28/03/2023