ชุมชนทอผ้ายก
ตั้งอยู่ยริเวณบ้านหัวเลน ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นที่รู้จักกันในชื่อหมู่บ้านอิสลาม ด้วยสมาชิกส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ประกอบอาชีพการประมง และทอผ้า
ในบรรดาผ้าทอพื้นถิ่นประเภทต่าง ๆ ของภาคใต้ ผ้าที่มีลวดลายวิจิตรพิสดารที่สุดได้แก่ ผ้ายก ในพระนิพนธ์ “สาส์นสมเด็จ” หนังสือรวบรวมลายพระหัตถ์ตอบโต้ ซักถาม แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับความรู้และวิชาการด้านต่าง ๆ ระหว่างนักปราชญ์สำคัญสองพระองค์ของแผ่นดินสยาม คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ กับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีลายพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ลงวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๘๑ ทูลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงแสดงแนวพระดำริเกี่ยวกับความหมายของผ้ายกไว้ว่า
“ผ้าไหมอันทอยกลวดลายให้สูงกว่าพื้นผ้า ถ้าลายทอด้วยไหมทองก็เรียกว่ายกทอง ถ้าลายทอด้วยไหมสามัญก็เรียกว่ายกไหม” (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, สาส์นสมเด็จ, ๒๕๐๔ (๑๔): ๒๗๓ - ๒๗๔)
แนวพระดำริดังกล่าวนับเป็นการให้ความหมายที่สะท้อนให้ชนรุ่นหลังได้ตระหนักถึงความเข้าใจในรูปลักษณ์ของผ้ายกในหมู่ชนชาวสยามได้เป็นอย่างดี ด้วยหลักสำคัญของการสร้างลวดลายผ้าประเภทนี้ คือ การทอเสริมเส้นด้ายพุ่งพิเศษ ทั้งแบบเสริมยาวต่อเนื่องตลอดหน้าผ้า และแบบเสริมเป็นช่วง ๆ โดยใช้วิธีเก็บตะกอลอยเพื่อเป็นเครื่องมือช่วยจัดกลุ่มเส้นด้ายยืน ให้เปิดอ้าหรือยกและข่มเป็นจังหวะ เพื่อทอสอดเสริมเส้นด้ายพุ่งพิเศษตามลวดลายที่ต้องการ ก่อเกิดเป็นผืนผ้าที่มีลวดลายยกนูนสูงกว่าพื้นผ้า ส่วนวิธีการทอแบบอื่นที่นำมาใช้ผสมผสานกัน ดังเช่น ทอเสริมเส้นยืนพิเศษ มัดย้อมเส้นพุ่งและเส้นยืนก่อนการทอ และทอแบบเส้นพุ่งไม่ต่อเนื่อง เพียงแต่นำมาตบแต่งลวดลายในส่วนประกอบปลีกย่อยเท่านั้น
สาเหตุที่ทำให้การทอผ้ายกในบริเวณหัวเมืองภาคใต้ตอนบน มีชื่อเสียงปรากฏโด่งดังขึ้นในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากได้รับการปรับปรุงและทำนุบำรุงส่งเสริมจากชนชั้นผู้ปกครอง เนื่องมาจากเป็นระยะเวลาที่มีปัจจัยและความพร้อมในหลายด้าน โดยเฉพาะบุคลากรหรือช่างทอ
บุคคลากรหรือช่างทอ ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว โดยเฉพาะในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จนกระทั่งล่วงมาถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สยามได้ทำศึกสงครามกับหัวเมืองประเทศราชมลายูบ่อยครั้ง ในแต่ละคราวก็ได้อพยพโยกย้ายประชากรจากหัวเมืองเหล่านั้น ให้ไปตั้งถิ่นฐานในที่แห่งใหม่ รวมทั้งหัวเมืองในภาคใต้ตอนบน เช่น นครศรีธรรมราช ไชยา เป็นต้น
เมื่อช่างทอผ้าชาวมลายู ซึ่งมีฝีมือในการทอผ้ายกได้เข้ามาอาศัย ณ เมืองนครศรีธรรมราช เมืองไชยา และหัวเมืองอื่นในภาคใต้ตอนบน ช่างทอเหล่านั้นจึงได้รับหมอบหมายจากทางราชการให้เป็นผู้ทอผ้ายกเพื่อใช้ในราชการ ตามความถนัดอันติดตัวมาแต่เดิมภายใต้การควบคุมดูแลของสยาม โดยมิต้องเสียเวลาในการเรียนรู้หรือฝึกสอนขึ้นใหม่ เมื่อสมทบเข้ากับช่างทอที่มีอยู่เดิม จึงเกิดการศึกษาเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการทอผ้ายกให้แก่กัน ช่างทอชาวสยามได้เรียนรู้เทคโนโลยีหลายประการจากช่างทอชาวมลายู ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีความสลับซับซ้อนและเอื้ออำนวยให้ทอผ้ายกได้วิจิตรพิสดารกว่าแต่ก่อน จึงส่งผลให้การทอผ้ายกในบริเวณภาคใต้ตอนบนในระยะเวลาดังกล่าวเฟื่องฟูอย่างสุดขีด
การสั่งทอหรือเกณฑ์ทอผ้ายกจากหัวเมืองในบริเวณคาบสมุทรภาคใต้ตอนบน เพื่อนำไปใช้ในกิจการของราชสำนักสยาม และการซื้อหาผ้ายกมาไว้ในครอบครองในหมู่ชนชั้นสูงในสังคมไทยเมื่อครั้งอดีตนั้น ล้วนแต่เพื่อตอบสนองรูปแบบวัฒนธรรมการแต่งกายแบบสังคมเมืองหลวง ซึ่งได้สืบทอดปรัชญาแนวความคิดและประเพณีนิยมที่มีจุดกำเนิดมาจากสังคมยุคกรุงศรีอยุธยาแทบทั้งสิ้น ข้อมูลเอกสารและหลักฐานเป็นผืนผ้ายกจำนวนมาก ทำให้สันนิษฐานได้ว่าราชสำนักสยามและผู้คนในสังคมไทย ได้นำผ้ายกเหล่านั้นมาใช้งาน ดังต่อไปนี้ ผ้านุ่ง ผ้าห่ม ผ้าคาดเอว ผ้าเช็ดปาก ผ้าสำหรับตัดเสื้อ และตัดเย็บเป็นสิ่งของเครื่องใช้อื่น ๆ เช่น หมวก หมอน ถลกบาตร ย่ามพระภิกษุ ถุง ล่วม ผ้าห่อคัมภีร์ เป็นต้น
แม้ว่าผ้ายกในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนในช่วงต้นนกรุงรัตนโกสินทร์ จะทอขึ้นเพื่อตอบสนองรูปแบบวัฒนธรรมการแต่งกาย และวิถีชีวิตตามแบบอย่างวัฒนธรรมสยามก็ตาม แต่ช่างทอผ้ายกมลายูก็มีส่วนเป็นอย่างมากในการสร้างสรรค์ให้ผ้ายกภาคใต้ มีความโดดเด่น เป็นงานประณีตศิลป์ชั้นสูงที่ขึ้นชื่อลือชาของเมืองพระราชอาณาจักร และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าสืบเนื่องมาจนกระทั่งสมัยปัจจุบัน ด้วยเป็นทั้งแรงงานกำลังสำคัญในการผลิต ทั้งยังเป็นผู้นำเทคโนโลยีที่มีความสลับซับซ้อนและเอื้ออำนวยให้ทอผ้ายกได้วิจิตรพิสดารกว่าแต่ก่อนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชาวสยาม
ผ้ายกเมืองไชยา ซึ่งเป็นที่รู้จักในชั้นหลังอย่างกว้างขวางในชื่อของ “ผ้ายกพุมเรียง” จึงเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นเครื่องสะท้อนถึงความปรองดอง การอยู่อาศัยร่วมกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย ของชาวสยามผู้เป็นผู้อยู่อาศัยในพื้นที่มาแต่เดิม และเป็นเจ้าของวัฒนธรรมกระแสหลัก กับชาวมลายูที่อพยพย้ายถิ่นมาในภายหลังอันเนื่องมาจากการศึกสงครามระหว่างสยามกับเมืองมลายู ถือได้ว่าเป็นตัวอย่างการสอดประสาน ร้อยรัดทางวัฒนธรรม ของศัตรูคู่ศึกสงครามที่กลับกลายเป็นมิตรและแสดงออกมาผ่านผืนผ้าได้อย่างงดงามน่าชื่นชม
เลขที่ : บ้านหัวเลน ต. พุมเรียง อ. ไชยา จ. สุราษฎร์ธานี 84110
- นายธีรพันธุ์ จันทร์เจริญ
- ธีรพันธุ์ จันทร์เจริญ : มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฏร์ธานี :
- โทรศัพท์ 0870394491สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี