AR-84110-00003 [ ได้รับทุนจากโครงการ ]
วัดสมุหนิมิต
ประเภทวัฒนธรรม
จับต้องได้ : Tangible.
หมวดหมู่วัฒนธรรม
สถาปัตยกรรม
AR:ARchitecture
ศาสนสถาน
ข้อมูล/ประวัติ
วัดสมุหนิมิต สถานที่ตั้ง เลขที่ ๑๗๖ ถนนราษฎร์บำรุง ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประวัติ วัดสมุหนิมิต ชาวบ้านเรียกว่าวัดล่าง คล้ายกับเป็นวัดคู่แฝดกับวัดเหนือ( วัดโพธาราม ) เพราะเป็นวัดใหญ่เคยเจริญรุ่งเรืองมีขุนนางอุปถัมภ์เหมือนกัน ตามข้อความในศิลาจารึกที่ฝังอยู่กับผนังพระอุโบสถกล่าวว่า วัดสมุหนิมิต เดิมชื่อวัดรอ เจ้าพระยาพระคลัง เสนาบดีว่าที่กรมพระกลาโหม ซึ่งเป็นต้นตระกูลของพระอภิรมย์สินนารักษ์ บุนนาค ออกมาสักเลขหัวเมืองปักษ์ใต้ เมื่อ พ.ศ.๒๓๙๒ เห็นวัดรกร้างจึงได้สร้างขึ้นใหม่ และสร้างเสร็จภายในเวลาเพียง ๔ เดือน จึงได้ขนานนามใหม่ว่า วัดสมุหนิมิต สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เสด็จวัดสมุหนิมิต เมื่อวันอังคารขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือนสิบพ.ศ.๒๔๒๗ ปรากฏความในหนังสือชีวิวัฒน์หน้า ๑๔๓ – ๑๔๔ ความว่า “...แล้วมีถนนตรงไปจากสนามหญ้าทางตะวันตก เป็นถนนพระยาไชยาคนนี้ได้ตัดทำใหม่ไว้กว้างประมาร ๘ ศอก ตรงไปหน่อยหนึ่งมีวัดๆหนึ่ง มีโบสถ์ก่ออิฐมุงกระเบื้อง ช่อฟ้าใบระกากว้างประมาณ ๔ วา ยาว ๖ วา ข้างในมีพระประธาน หน้าตักกว้าง ๔ ศอก หันหน้าโบสถ์ไปด้านตะวันออก มีกำแพงแก้วและพัทธเสมาล้อมรอบโบสถ์ เสมาไชยหน้าโบสถ์นั้นมีพาไลมุงกระเบื้องออกมาจากหน้าโบสถ์ ตัวเสมาอยู่ในร่ม ข้างหลังโบสถ์เป็นกุฏิพระ ต่อไปเป็นรั้ววัดเป็นไม้ปักห่างๆเป็นขอบสูงประมาณ ๔ ศอก ประตูเป็นคอกและล้อมประตูก่ออิฐ วัดนี้ชื่อวัดสมุหนิมิต เป็นของสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ปฏิสังขรณ์ ตรงวัดข้ามถนนทิศเหนือมีพระเจดีย์ มีฐานก่อสูงประมาณ ๕ ศอก สูงทั้งพระเจดีย์ด้วยประมาณ ๕ วา มีศาลาคดเล็กๆ ๔ มุม มีกำแพงแก้วชักติดกันรอบ รอบพระเจดีย์องค์นี้เป็นของพระครูกาแก้วองค์เก่าสร้าง ต่อถนนไปอีกมีสะพานข้ามคูไป ถนนเลี้ยวไปทางทิศเหนือ ข้างฟากถนนข้างตะวันตกมีลานกว้าง...” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินวัดสมุหนิมิต เมืองไชยา เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ร.ศ.๑๐๘ (พ.ศ.๒๔๓๒) ปรากฏความในจดหมายเหตุพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสแหลมมลายูคราว ร.ศ.๑๐๗ แล ๑๐๘ หน้า ๔๙ – ๕๐ ตอนหนึ่งว่า “...เสด็จขึ้นประทับบนพลับพลาจนบ่าย ๒ โมง จึงเสด็จพระราชดำเนิรไปตามถนนหน้าบ้านพระยาไชยา ผ่านหน้าศาลากลางไปเลี้ยวลงทางวัดสมุหนิมิต เสด็จทอดพระเนตรวัด พระสงฆ์ในวัดนั้นแลวัดอื่นมารับเสด็จ นั่งเต็มไปทุกศาลา พระราชทานปัจจัยมูลแก่พระสงฆ์เหล่านั้นตามสมควรทั่วกัน แล้วเสด็จพระราชดำเนิรไปตาถนนท้องตลาด ในระยะที่เสด็จพระราชดำเนิรมานั้น มีบ้านเรือนหลายแห่ง ที่เกือบจะสุดปลายตลาดถึงวัดโพธารามเปนวัดโบราณ ซึ่งพระครูกาแก้วอยู่...” วันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๔๕ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เสด็จตรวจราชการแหลมมลายู ทรงแวะตรวจราชการเมืองไชยา ได้เสด็จวัดสมุหนิมิต ทรงบันทึกสภาพของวัดในสมันนั้นว่า “...แล้วกลับมาทางเดิมมาถึงวัดสมุหนิมิตเวลา ๔.๕๐ เข้าดูวัด พระครูกาแก้วรับรองวัดนี้สมเด็จองค์ใหญ่(สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ดิศ บุนนาค) สร้างคราวมาสักเลข จุล.๑๒๑๐ ทำทีเปนไทยเจือจีน ทำนองวัดประยุรวงษ์ ท่าทางก็คล้ายฉะนั้น แต่เลวกว่ามาก ใช้เสาไม้ก่ออิฐ วัดที่ว่าถึงศักราชได้เพราะมีจาฤกได้คัดมาแล้ว เวลา ๕.๓๐ กลับจากวัดสมุหท่านพระครูพาเดินไปถึงออฟฟิศโทรศัพท์...” สิ่งสำคัญ ๑.พระอุโบสถ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน มีกำแพงแก้วล้อมรอบ ด้านหน้ามีบันใดทางขึ้น ๒ ทาง ฐานอุโบสถลักษระเป็นฐานประทักษิณหรือฐานไพทีสามารถเดินได้รอบ มีเสาสี่เหลี่ยมเรียงรายรอบพระอุโบสถรองรับปีกนกหลังคา หน้าบันตกแต่งด้วยลายปูนปั้นรูปดอกไม้ประดับกระจกสี หน้าต่างและบานประตูเขียนลายดอกไม้ร่วง และผีเสื้อลงรักปิดทองอย่างสวยงาม ๒.ศิลาจารึก จำนวน ๒ หลัก อักษรไทย ภาษาไทย สลักบนแผ่นหินชนวน ฝังไว้ที่ผนังด้านสกัดของผนังพระอุโบสถด้านทิศตะวันออกตรงข้ามพระประธาน ได้แก่ จารึก ส.ฎ.๒ เป็นอักษรไทย ภาษาไทย ทำด้วยหินชนวนรูปสี่เหลี่ยมกว้าง ๖๒ เซนติเมตร สูง ๓๓.๕ เซนติเมตร หนา ๓ เซนติเมตร จารึก ส.ฎ.๗ ฝังอยู่ผนังพระอุโบสถเช่นกัน โดยอยู่ทางด้านขวาของจารึก ส.ฎ.๒ เป็นอักษรไทย ภาษาไทย ทำด้วยหินชนวนสีดำ รูปสี่เหลี่ยมกว้าง ๒๔ เซนติเมตร สูง ๓๓ เซนติเมตร หนา ๓ เซนติเมตร ๓.ศิลาจารึก สฎ.๖ รูปร่างเหมือนใบเสมา ทำด้วยหินทรายแดง จารึกด้วยอักษรขอม ภาษาไทย ขนาดกว้าง ๓๖ เซนติเมตร สูง ๗๙ เซนติเมตร หนา ๑๑ เซนติเมตร พบที่วัดจำปา ตัวจารึกระบุพุทธศักราช ๒๓๑๙ และได้ส่งต่อไปยังกองหอสมุดแห่งชาติเพื่อดำเนินการ อ่านและแปล แต่ยังไม่ได้ความตลอด ต่อมาในวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๑๔ ผู้อำนวยการกองหอสมุดแห่งชาติ พระนคร พร้อมคณะเดินทางไปราชการภาคใต้ จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปทำการอัดสำเนาศิลาจารึกนี้อีกครั้งหนึ่ง และได้มอบให้นายประสาร บุญประคอง อ่านและแปล ปัจจุบันศิลาจารึกหลักนี้เก็บไว้ที่ซุ้มลูกกรง หลังพระอุโบสถใกล้กับเจดีย์บรรจุสังขาร พระครูวิจารณ์โกศล (มัย) และพระครูพิพัฒน์สมุหประดิษฐ์ (จรูญ) อดีตเจ้าอาวาส ๔.สระน้ำกรุอิฐโบราณสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์( ดิศ บุนนาค)ได้สร้างถวายพระสงฆ์ในวัดใช้สอยพร้อมกับพระอุโบสถทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตามที่ได้ปรากฏข้อความในศิลาจารึก ส.ฎ.๒ สลักบนแผ่นหินชนวน ฝังไว้ที่ผนังด้านสกัดของผนังพระอุโบสถด้านทิศตะวันออกตรงข้ามพระประธาน ปัจจุบันเจ้าอาวาส ได้ให้รถแทรกเตอร์แบบขุดดิน ถมกลบสระน้ำกรุอิฐนี้แล้ว อย่างน่าเสียดาย ๕.ศาลาการเปรียญสร้างเป็นอาคารโปร่ง อาสนะสงฆ์ยกสูงจากพื้นเล็กน้อย หลังอาสนะเป็นคร่าวไม้ลูกกรงกลึงแบบลูกมะหวด มีธรรมาสน์เก่าตั้งอยู่ ๑ หลัง ปัจจุบันธรรมาสน์นี้ได้ย้ายไปเก็บรักษาไว้ในศาลาหอฉัน(ชาวบ้านเรียกกันว่าโรงฉัน)ของวัดแล้ว ส่วนศาลาการเปรียญนี้เจ้าอาวาสได้ให้ช่างมาดำเนินการเคลื่อนย้ายออกจากตำแหน่งเดิมไปไว้ยังบริเวณใกล้สระน้ำกรุอิฐที่ได้มีการถมกลบไปแล้ว (ไม่ได้วางไว้บนสระที่ถูกถมกลบ)เนื่องจากจะมีการสร้างพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุในบริเวณที่ตั้งเดิมของศาลาการเปรียญ ๖.กุฏิพระครูรัตนมุนีศรีสังฆราชาลังกาแก้ว ปัจจุบันตั้งอยู่บนขอบเขตฐานเดียวกันกับศาลาการเปรียญแต่ไม่ได้ถูกเคลื่อนย้าย ยังคงตั้งอยู่ ณ ที่เดิม ๗.ตู้พระไตรปิฎกลายรดน้ำศิลปะรัตนโกสินทร์จำนวน ๒ ตู้ ซึ่งสันนิษฐานว่าได้ย้ายมาจากวัดสระพังจิก(สวนโมกข์เก่า)เมื่อครั้งสร้างวัดสมุหนิมิตเสร็จพร้อมด้วยได้นิมนต์พระครูรัตนมุนีศรีสังฆราชาลังกาแก้ว (พิน) เจ้าอาวาสวัดสระพังจิกมาเป็นเจ้าอาวาส จึงเป็นเหตุให้วัดสระพังจิกกลายเป็นวัดร้างในเวลาต่อมา ๘.คัมภีร์ใบลานต่างๆพบอยู่ภายในตู้พระไตรปิฎกลายรดน้ำ ส่วนใหญ่เป็นคัมภีร์ใบลานห่อด้วยผ้าทอและผ้ายกโบราณ ตลอดจนตำรายาต่างๆ ๙.พระพุทธรูปประทับยืน ๒ องค์ ศิลปะรัตนโกสินทร์ องค์ที่ ๑เป็นปางห้ามญาติหล่อด้วยทองเหลือง ลงรักปิดทองขนาดเท่าบุคคลจริง ประทับบนบัวหงายเหนือฐาน ๓ ชั้น มีฉัตรกางกั้นเหนือพระเศียร ที่ฐานพระพุทธรูปมีจารึก ได้ระบุชื่อผู้สร้างคือ พระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย) เจ้าเมืองไชยา องค์ที่ ๒ เป็นพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร หล่อด้วยทองเหลืองลงรักปิดทอง ปัจจุบันทางวัดได้ทาสีทองทั่วทั้งองค์พระพุทธรูปเนื่องจากรักได้มีการเสื่อมสภาพ หลุดลอก ที่ฐานพระพุทธรูปมีจารึกระบุชื่อผู้สร้าง คือคุณหญิงชื่น ศรียาภัย ซึ่งเป็นธิดาของพระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย) เจ้าเมืองไชยา ๑๐.เครื่องปั้นดินเผา มีอยู่จำนวนมากโอ่งกระถางที่ขนาดใหญ่โตมีอยู่ประมาณ ๕ ใบ กา คนโท จาน ชาม กระปุก ไห ขนาดและแบบต่างๆเดิมทางวัดเก็บไว้ใต้ถุนศาลาการเปรียญซึ่งเป็นห้องลั่นกุญแจ ปัจจุบันได้ย้ายไปเก็บไว้ในศาลาหอฉัน ๑๑.กระเบื้องรางมุงหลังคาสมัยอยุธยาจำนวนประมาณ ๓๐ แผ่น ขุดพบวางเรียงกันอยู่บริเวณข้างรั้ววัด เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน ๒๕๑๑ ๑๒.เจดีย์ใหญ่ อยู่ที่น่าประตูนอกวัดหักพังลงมาเหลือแต่ฐาน สูงจากพื้นดินประมาณ ๑ เมตร มีบันไดทางขึ้นทั้ง ๔ ทิศ มีการประดับด้วยลูกกรงดินเผาเคลือบแบบจีนอย่างที่นิยมใช้ในรัชกาลที่ ๓ ชิ้นส่วนลูกกรงเหล่านี้ได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา ส่วนเจดีย์ในปัจจุบันมีต้นโพธิ์ขึ้นปกคลุมทรุดโทรมมาก ที่ฐานเจดีย์มีหลักศิลาจารึกภาษาจีนตั้งอยู่ ๑ หลัก ยังคงตั้งอยู่ ณ ที่เดิม ไม่ได้รับการดูแล


ที่ตั้ง
เลขที่ : 176 ถนนราษฎร์เจริญ หมู่ที่ 3 ต. พุมเรียง อ. ไชยา จ. สุราษฎร์ธานี 84110
บุคคล/กลุ่มผู้ให้ข้อมูล
- นายกรวิชญ์ ผ่องฉวี
ผู้บันทึกข้อมูล
- ธีรพันธุ์ จันทร์เจริญ : มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฏร์ธานี :
ช่องทางติดต่อ
- โทรศัพท์ 0937458635
มีผู้เข้าชมจำนวน :409 ครั้ง
บันทึกข้อมูลเมื่อวันที่ : 12/11/2022 - ปรับปรุงล่าสุดวันที่ : 12/11/2022