AR-84110-00002 [ ได้รับทุนจากโครงการ ]
วัดโพธาราม
Wat Photharam
ประเภทวัฒนธรรม
จับต้องได้ : Tangible.
หมวดหมู่วัฒนธรรม
สถาปัตยกรรม
AR:ARchitecture
ศาสนสถาน
ข้อมูล/ประวัติ
วัดโพธาราม สถานที่ตั้ง เลขที่ ๙๘ หมู่ที่ ๓ ถนนราษฎร์บำรุง ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประวัติ วัดโพธารามสร้างขึ้นเมื่อใดยังไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด แต่ก็เป็นวัดเก่าแก่อีกวัดหนึ่ง ชาวบ้านเรียกวัดแห่งนี้ว่า “วัดเหนือ” คู่กับวัดสมุหนิมิตที่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดล่าง” สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เสด็จวัดโพธาราม เมื่อวันอังคารขึ้น ๑๓ ค่ำเดือน ๑๐ พ.ศ.๒๔๒๗ ปรากฏความในหนังสือชีวิวัฒน์หน้า ๑๔๕ ว่า “...ทางประมาณ ๗ เส้น ๘ เส้น มีวัดๆหนึ่งข้างฟากถนนทิศเหนือ ชื่อว่าวัดโพธาราม มีรั้วไม้เป็นเขื่อน และมีโบสถ์ผนังปูนชำรุดมุงหลังคาจาก กว้างประมาณ ๔ วา ยาวประมาณ ๖ วา หน้าโบสถ์หันไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือในโบสถ์นั้นมีพระประธานหน้าตัก ๓ ศอก นั่งอยู่บนฐานปูนเตี้ยแต่กว้าง มีพระพุทธรูปใหญ่น้อยตั้งอยู่เป็นอันมาก มีพระหล่ออย่างเก่าๆและชำรุดมาก และมียานุมาศอย่างเก่าๆอยู่ ๒ อัน สลักปิดทองล่องชาด มีคานหามสำหรับหามด้วยชำรุดปรักหักพัง ได้สอบถามพระครูกาแก้วก็ไม่ได้ความว่ามาแต่ไหน ทราบว่าเป็นของเก่าตั้งแต่พระครูกาแก้วเกิดมาก็เห็นอยู่ดังนี้ เป็นของเคยใช้สำหรับแห่พระ แห่บวชนาคบ้าง เมื่อพระครูกาแก้วคนนี้บวชก็ได้เคยแห่ยานุมาศอันนี้ ตัวพระครูกาแก้วนั้นบัดนี้อายุถึง ๗๐ ปีแล้ว ต่อวัดนี้ไปก็เป็นบ้านโรงเรือนราษฎร ขายของสินค้ารายไปเหมือนที่ว่ามาแล้วนั้น...” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินวัดโพธาราม เมืองไชยาเมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ร.ศ.๑๐๘ (๒๔๓๒) ปรากฏความในจดหมายเหตุพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสแหลมมลายูคราว ร.ศ.๑๐๗ แล ๑๐๘ หน้า ๔๙ – ๕๐ ปรากฏความตอนหนึ่งว่า “...เสด็จขึ้นประทับบนพลับพลาจนบ่าย ๒ โมง จึงเสด็จพระราชดำเนิรไปตามถนนหน้าบ้านพระยาไชยา ผ่านหน้าศาลากลางไปเลี้ยวลงทางวัดสมุหนิมิต เสด็จทอดพระเนตรวัด พระสงฆ์ในวัดนั้นแลวัดอื่นมารับเสด็จ นั่งเต็มไปทุกศาลา พระราชทานปัจจัยมูลแก่พระสงฆ์เหล่านั้นตามสมควรทั่วกัน แล้วเสด็จพระราชดำเนิรไปตาถนนท้องตลาด ในระยะที่เสด็จพระราชดำเนิรมานั้น มีบ้านเรือนหลายแห่ง ที่เกือบจะสุดปลายตลาดถึงวัดโพธารามเปนวัดโบราณ ซึ่งพระครูกาแก้วอยู่ พระอุโบสถหลังคาชำรุด ทรงพระราชศรัทธารับปฏิสังขรณ์พระอุโบสถซึ่งชำรุด ที่พระครูกาแก้วจะเริ่มทำนั้น โปรดเกล้าฯให้พระยาไชยาจัดการปฏิสังขรณ์ มีพระราชดำรัสด้วยพระครูกาแก้วครู่หนึ่งแล้ว พระราชทานปัจจัยมูลแก่พระครูห้าตำลึง พระสงฆ์อันดับองค์ละกึ่งตำลึง แล้วเสด็จพระราชดำเนิรต่อไป เมื่อเสด็จวันนี้ข้างในพระราชทานเงินเข้าในการปฏิสังขรณ์ ๔ ชั่งเศษ เสด็จพระราชดำเนิรไปจนสุดตลาด เสด็จกลับทางเดิม ประทับพลับพลา บ่าย ๕ โมงครึ่งเสด็จกลับลงเรือพระที่นั่งลงเรืออุบลบุรทิศ...” และปรากฏในพระราชหัตถเลขาฉบับที่ ๔ ในพระราชหัตถเลขาเรื่องเสด็จประพาสแหลมมลายูของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความว่า เรือพระที่นั่งอุบลบุรทิศทอดที่ปากน้ำเมืองหลังสวน วันที่ ๑๐ สิงหาคม รัตนโกสินทรศก ๑๐๘ ถึงท่านกลางแลกรมหลวงเทววงศ์วโรปการ ด้วยจดหมายมาแต่ก่อน แจ้งความมาจนถึงวันที่ ๕ เจือวันที่ ๖ เวลาเช้า ที่เรือเข้าไปทอดอยู่ในกระเส็ดหน้าเมืองไชยา เตรียมจะขึ้นบกรอสายมากไปเพราะเขียนหนังสือเมล์ซึ่งมาด้วยเรือมุรธาวสิตสวัสดี เวลาย่ำเที่ยงตรงจึงได้ลงเรือกระเชียงเรือจักรนารายณ์ลากเข้าไปในอ่าวเมืองไชยา ที่ปลายแหลมปากช่องขวามือ มีศาลามุงกระเบื้องเฉลียงรอบหลังหนึ่ง เขาทำปะรำและตะพานฉนวนไว้แต่ไม่ได้ขึ้น ต่อขึ้นไปอีกหน่อยหนึ่งถึงปากคลองพุมเรียง .....................................ที่เกือบจะสุดปลายตลาดมีวัดโพธารามเป็นวัดโบรารพระครูกาแก้วอยู่ พระอุโบสถหลังคาชำรุด ยังอยู่แต่ผนังมุงจากไว้ พระครูกาแก้วอายุ ๘๐ ปี ตาไม่เห็น หูตึง แต่รูปร่างยังอ้วนพีเปล่งปลั่ง จำการเก่าๆได้มาก ปากคำอยู่ข้างจะแข็งแรงเรียบร้อย เป็นคนช่างเก็บของเก่าแก่อย่างเช่นผ้าไตรฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จฯพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีผ้ากราบปักเป็นต้น ก็ยังรักษาไว้ได้ และเล่าเรื่องราวในการงานที่มีที่กรุงเทพฯ ประกอบสิ่งของได้ด้วย เรียกชื่อคนทั้งชั้นเก่าชั้นใหม่เต็มชื่อเสียงแม่นยำ ได้สนทนากันก็ออกชอบใจ จึงได้รับจะปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ ซึ่งพระครูได้ตระเตรียมไว้บ้างแล้วนั้นให้สำเร็จ ได้มอบการให้พระยาไชยาเป็นผู้ทำเพราะอิฐและกระเบื้องเขามีอยู่แล้ว จะได้ถวานเงินพระครูช่างห้าตำลึง พระสงฆ์อันดับองค์ละกึ่งตำลึง ข้างในเรี่ยรายกันเข้าในการปฏิสังขรณ์บ้าง เจ้าสาย ( พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ ) มาทำบุญวันเกิดที่วัดนี้ ได้ถวายเงินในการปฏิสังขรณ์สองชั่งรวมเป็นเงินประมาณสี่ชั่ง ออกจากวัดเดินไปจนสุดตลาดยังมีทางต่อไปอีกหน่อยหนึ่ง จึงจะถึงทุ่งไชยา ทางตั้งแต่บ้านพระยาไชยาจนถึงทุ่งไชยาประมาร ๓๐ เส้น กลับโดยทางเดิมมาพักที่พลับพลา พระยาสวัสดิวามดิฐเป็นผู้ช่วยพระยาไชยาจัดการเลี้ยงทั่วไป อยู่ข้างจะดีกว่าทุกแห่ง เวลา ๕ โมงครึ่งกลับมาเรือ...” วันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๔๕ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เสด็จตรวจราชการแหลมมลายู ทรงแวะตรวจราชการเมืองไชยา ได้เสด็จวัดแห่งนี้ปรากฏความว่า “...๕.๕๕ กลับจากวัดใหม่ พระครูนำเข้าตรอกมาออกที่ตลาดตรงท้ายวัดโพธิ์ เข้าดูวัดโพธิ์ เปนวัดเก่ามากกว่าคนในที่นี้ แต่โบสถ์หลังคาพังแล้ว เอาจากยกขึ้นมุงไว้ เดิมมุงกระเบื้องกำปู มีตัวกระเบื้องทิ้งอยู่ มีฐานพระแลองค์พระเล็ก ปั้นอย่างฝีมือดีองค์หนึ่ง บานประตูโบสถ์สลักลายอย่างเก่า แต่ฝีมือผูกแลสลักเปนปานกลาง เสาเก่าเหลือคู่หนึ่ง เปนเสาไม้บัวปลายสลัก นอกจากนั้นมีพระเจดีย์เล็กอีกองค์หนึ่ง อยู่มุมขวาหลังโบสถ์ เปนพระเจดีย์อยู่บนฐานคูหาสามชั้นมีคฤห์ นอกนั้นเปนของใหม่ ได้เข้าไปดูโบสถ์ ดูพระเจดีย์ ดูการปเรียญ ดูโรงเรียนซึ่งเอาหอสวดมนต์ใช้ ไปกุฏิท่านพระครู เมื่อถึงวัดโพธิ์เวลา ๕.๕๕ เที่ยง๒๕ กลับ มาถึงที่พักเที่ยงครึ่ง...” สิ่งสำคัญ ๑.พระอุโบสถ เดิมสร้างแต่เมื่อไรไม่มีใครทราบ รู้แต่ว่าได้มีการบูรณะครั้งใหญ่ในปี ๒๔๖๕ ( มีเขียนบอกไว้ที่เสาเพดานโบสถ์ ) ดังสภาพที่เห็นในปัจจุบัน หน้าบันพระอุโบสถประดับด้วยกระเบื้องถ้วยชามขนาดใหญ่ประกอบเข้ากับลายปูนปั้นรูปดอกไม้และใบไม้ ถ้วยชามส่วนมากมีอายุในราวต้นกรุงรัตนโกสินทร์ทั้งเครื่องถ้วยจีนและเครื่องถ้วยฝรั่ง บานประตูพระอุโบสถเป็นไม่สลักลายพุ่มข้าวบิณฑ์ลงรักปิดทอง ก่อนสำรวจในปี ๒๕๕๑ นั้นมีผู้ร้ายปีนขึ้นไปกะเทาะเอวถ้วยชามจากหน้าบันพระอุโบสถเสียหลายใบ ปัจจุบันเหลือไม่ถึงสิบใบแล้ว ทางวัดได้นำเครื่องถ้วยของใหม่ขึ้นไปประกอบเข้ากับลายปูนปั้นเดิม ๒.บานหน้าต่างไม้แกะสลักอยู่ตามกุฏิหลังต่างๆ ๓.ตู้พระธรรมลายรดน้ำมีทั้งหมด ๖ ตู้ ซึ่งส่วนใหญ่สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์แต่ที่เก่าถึงสมัยอยุธยาก็มีอยู่ด้วย ๑ ตู้ เดิมอยู่บนศาลาโรงธรรมหลังใหม่ต่อมาได้ย้ายเข้าไปเก็บรักษาไว้ ณ ห้องใต้ถุนกุฏิพระครูรัตนมุนีศรีสังฆราชาลังกาแก้ว อดีตเจ้าคณะเมืองไชยา ได้สอบถามพระครูถาวรธรรมวิสุทธิ์(เมือง) เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันได้ความว่า ได้มีการเคลื่อนย้ายตู้พระธรรมเมื่อครั้งพระครูโพธานุกูล ( เจิม ) อดีตเจ้าอาวาสได้มรณภาพลงเพื่อใช้ศาลาโรงธรรมหลังใหม่เป็นที่ตั้งบำเพ็ญกุศลศพ และหลังจากที่ได้ประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพแล้ว ก็ไม่ได้มีการเคลื่อนย้ายกลับมาใหม่ ปัจจุบันจึงทำให้ตู้พระธรรม ๒ ตู้ ในจำนวนทั้งหมด ๖ ตู้ ถูกปลวกกิน ทำให้หนังสือใบลานโบราณพร้อมไม้ประกับและผ้าห่อได้รับความเสียหายทั้งหมด ซึ่งเกิดจากฝนรั่วที่หลังคากุฏิจึงได้รับความเสียหายหนักดังที่เห็นในปัจจุบัน ๔.หีบพระธรรมไม้ฉลุลาย ๕.กล่องใส่คัมภีร์ใบลาน มีทั้งแบบฉลุ ลงรักปิดทอง ฝังมุก มีอย่างน้อย ๕ กล่อง ๗.สมุดข่อยและหนังสือคัมภีร์ต่างๆเก็บไว้ในตู้ลายรดน้ำ ส่วนมากอยู่ในสภาพดี ส่วนใหญ่เป็นเรื่องในพระพุทธศาสนา บางเล่มมีภาพสีประกอบ ที่เป็นกฎหมายเช่นกฎหมายว่าด้วยทาส จุลศักราช ๑๑๖๖ ก็มี ๘.พระพุทธรูปสำริด สกุลช่างนครศรีธรรมราช สูง ๓๑ เซนติเมตร ช่วงพระพาหากว้าง ๒๐ เซนติเมตร พบเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๑ ขณะขุดดินเพื่อวางรากฐานรั้วกำแพงวัด ลึกจากดินประมาณ ๑ เมตร ๙.กุฏิทรงไทย ๑๐.โอ่ง ไห ถ้วยชาม และเครื่องลายคราม ๑๑.พระพุทธรูปไม้แกะสลักบุด้วยเงินขนาดเล็กมีอยู่เป็นจำนวนมาก ๑๒.ภาพถ่ายเจ้านายชั้นผู้ใหญ่มีข้อความเขียนด้วยลายมือก็มีพบอยู่ด้วยในกระเป๋าหนังสัตว์


ที่ตั้ง
เลขที่ : 98 หมู่ที่ 3 ต. พุมเรียง อ. ไชยา จ. สุราษฎร์ธานี 84110
บุคคล/กลุ่มผู้ให้ข้อมูล
- นายกรวิชญ์ ผ่องฉวี
ผู้บันทึกข้อมูล
- ธีรพันธุ์ จันทร์เจริญ : มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฏร์ธานี :
ช่องทางติดต่อ
- โทรศัพท์ 0937458635
มีผู้เข้าชมจำนวน :504 ครั้ง
บันทึกข้อมูลเมื่อวันที่ : 12/11/2022 - ปรับปรุงล่าสุดวันที่ : 12/11/2022