ประตูยางเทิงหรือประตูยางเซิ้ง นางเซิ้ง เป็นประตูเมืองทางด้านทิศเหนือของเมืองเชียงแสน สภาพป้อมประตูปัจจุบันที่ยังเหลือให้เห็นเป็นแนวกำแพงอิฐ บางส่วนได้พังทลายลงไปแล้ว สำหรับส่วนที่เหลือนั้นทรุดโทรมมาก สภาพพื้นที่บริเวณป้อมฯ ทางด้านนอกเมือง เป็นคูเมืองไม่มีน้ำขัง ลักษณะตื้นเขิน มีวัชพืชขึ้นปกคลุม ถัดจากคูเมืองไปเป็นบริเวณทุ่งโล่ง บริเวณในป้อมกำแพงเมืองมีศาลเจ้าแม่นางเซิ้ง สร้างเป็นอาคารไม่ใต้ถุนสูง
สภาพการสัญจร บริเวณป้อมสามารถติดต่อกับบริเวณในกำแพงเมือง โดยเข้าทางประตูยางเทิงจากสี่แยกที่ถนนรอบเวียงตัดกับถนนสายที่ ๒ ถนนผ่านประตูยางเทิงแล้วเลียบผ่านบริเวณป้อมประตูยางเทิง ซึ่งถนนสายนี้จะวิ่งเลียบกำแพงเมืองทางด้านนอกเกือบตลอดแนวกำแพงเมือง
ทัศนียภาพ สามารถสังเกตได้จากบริเวณข้างเคียง โดยเฉพาะจะเห็นได้ค่อนข้างชัดเจนจากถนนทางด้านนอกกำแพงเมือง
ประตูยางเทิงยังปรากฏในวรรณกรรมค่าวซอของแม่ทัพชาวเมืองยองที่ได้แต่งเอาไว้ว่า
"อริยา ย่างย้ายตวยเหลียว ตนเองเดียว สลิดแก่เหลิ้ง
จักออกทาง ประตูยางเถิง ก็กลัวนาย ทวารรัดไว้
จิ่งตริ หาเหตุช่องใช้ ว่าเวียงหวากหั้น เหมือนดี
ตัวเองเดียว ท่านผะผ่าหนี ออกเวียงไป ตวยท่อน้ำดั้น
เถิงตีนดอย จอมกิตติหั้น ไปเขิดหน้าแม่ ผิวแอม"
ค่าวคนยอง สรีวิไชยาแต่ง ทัพเมืองยอง เมืองเชียงแสนและหัวเมืองในการปกครองพม่าตอนเหนือไปตีอโยธิยา(สงครามเก้าทัพ)
ค่าวซอพ่อเจ้าราชวงศ์ หรือค่าวซอสงครามอโยธิยาม่าน แต่งโดย สรีวิไจยา นายทหารของเจ้าฟ้าเมืองยอง แต่งประมาณปีพ.ศ. 2327-2328 ก่อนเมืองยองแตกยี่สิบกว่าปี บรรยายถึงการเดินทัพตั้งแต่เมืองยองพักรวมพลที่เชียงแสนแล้วลงไปตีเมืองพิษณุโลกฯในช่วงสงครามเก้าทัพ
เลขที่ : ต. เวียง อ. เชียงแสน จ. เชียงราย 57150
-
- ผศ.ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง : มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง :
-