อาหารโบราณ ข้าวเหนียวผสมกะทิและเครื่องปรุงรสใส่ในกระบอกไม้ไผ่ ที่เรียกว่า “ข้าวหลาม”เป็นอาหารคู่ครัวเรือนของชาวบ้านพื้นถิ่นทุกท้องที่ ซึ่งสอดคล้องกับวัฒนธรรมการปลูกข้าว ผู้ทำข้าวหลามส่วนใหญ่ประกอบอาชีพหลักคือการทำนา ในอดีตการทำข้าวหลามจะทำทุกครัวเรือนปีละครั้ง ช่วงเทศกาลหลัง 3 ค่ำ เดือน 3 จนถึงเดือน 4 (ราวเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม) เป็นการฉลองหลังการทำนาเสร็จ ชาวนาจะทำกันทุกครัวเรือนจนถือเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น และไม่มีการทำข้าวหลามในช่วงอื่น ต่อมาข้าวหลามเป็นอาหารที่คนนิยมรับประทานและนำเป็นของฝากญาติมิตรในเทศกาลต่างๆ ทำให้ชาวบ้านบางส่วนหันไปประกอบอาชีพเผาข้าวหลามขายตลอดฤดูกาล ตลอดปี จากคำบอกเล่าของนางอรทัย วิชีรัมย์ เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการทำข้าวหลาม โดยได้รับสูตรการทำข้าวหลามจากคุณยาย (นางเลา เฉียงรัมย์) โดยทำขายมานานกว่า 50 ปี ซึ่งนางอรทัยได้มารับช่วงต่อเป็นอาชีพของครอบครัว โดยข้าวหลามแม่เลา มีความอร่อยจนได้ขึ้นบัญชีเป็นสินค้า OTOP ของตำบล ต่อมานางอรทัยได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านหนองปรือน้อย ตำบลสวายจีก จึงได้มาทำขายที่หน้าบ้านของตนเอง โดยขายนานกว่า 15 ปี โดยเคล็ดลับในการทำข้าวหลามคือการใช้ใบเตยปิดปากกระบอกไม้ไผ่ เมื่อกะทิเดือดใบเตยจะออกกลิ่นหอมของใบเตยอ่อน ๆ ความหอมของใบเตยนี้เองกลายเป็นเอกลักษณ์ของข้าวหลามแม่เลา ราคาในการจำหน่ายคือ 20 บาท สำหรับกระบอกเล็ก 70 บาท สำหรับกระบอกใหญ่ โดยสามารถสร้างรายได้ประจำให้กับครอบครัว 500 – 1,000 บาท/วัน
เลขที่ : บ้านเลขที่ 106 หมู่ที่ 9 บ้านหนองปรือน้อย ต. สวายจีก อ. เมืองบุรีรัมย์ จ. บุรีรัมย์ 31000
- นางอรทัย วิชีรัมย์
- ดร.จิรายุฑ ประเสริฐศรี : มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ :
- 08 8275 8762