วัดเจียง ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1974 ไม่ทราบประวัติการก่อสร้างเพราะที่บ้านเจียงเดิมมีวัดอยู่ 4 วัด ได้แก่ วัดสะแหล วัดเฉลียง วัดเจียง และวัดปราสาท ปัจจุบันสถานที่วัดสะแหลและวัดเฉลียงเป็นวัดร้างใช้เป็นที่ทำการศูนย์มาลาเรียแม่แจ่ม และเป็นหอพักเด็กชาวเขา ส่วนวัดปราสาทนั้น ยังมีธาตุเจดีย์เก่าหลงเหลืออยู่เป็นธาตุทรงปราสาทแบบล้านนาไม่ปรากฏหลักฐานการสร้าง เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันได้สร้างกำแพงล้อมรอบไว้ในบริเวณเดียวกับวัดเจียงเพื่อป้องกันการบุกรุกที่ดินและเพื่อรักษาปูชนียสถานให้คงอยู่ตลอดไป
ชาวเมืองแจ่มถือเอาวันเพ็ญเดือนห้า หรือห้าเป็งเป็นวันทำบุญใหญ่ที่วัดเจียง เป็นประเพณีที่เริ่มจัดเมื่อ พ.ศ.2492 นอกจากกิจกรรมการแห่คัวตานเข้าวัดจากศรัทธาบ้านต่างของเมืองแม่แจ่มแล้ว ชาวเมืองแจ่มยังใช้โอกาสนี้มากราบไหว้พระเจ้าแสนตอง พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่ของเมืองแม่แจ่มที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือมาก หากปีไหนฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ชาวเมืองแจ่มจะแห่พระเจ้าแสนตองเพื่อขอฝน
พระเจ้าแสนตอง เป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ ปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสนยุคที่ 3 หรือสิงห์ 3 หน้าตักกว้างประมาณ 20 นิ้ว สูง 23 นิ้ว ตามตำนานเล่าว่าขุนหลวงมะลังก๊ะ หรือขุนหลวงวิลังคะ เป็นผู้สร้าง เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดร้าง “โต๊งญางใหม่” หรือทุ่งยางใหม่ จนถึง พ.ศ.2500 คณะสงฆ์ร่วมกับทางราชการได้อัญเชิญมาไว้บนที่ว่าการอำเภอแม่แจ่ม เพราะเกรงว่าจะถูกขโมย จนถึง พ.ศ.2509 พระธรรมโมลี เจ้าคณะภาค 7 ได้มีคำสั่งให้อาราธนาพระเจ้า แสนตองมาประดิษฐาน ณ วัดเจียง เพราะกลัวสูญหาย และเพื่อให้ประชาชนได้กราบไหว้ ทุ่งนาบริเวณวิหารน้อยวัด โต๊งญางใหม่ เมื่ออัญเชิญพระเจ้าแสนตองมาแล้วก็ถูกทิ้งร้างจนถึงปัจจุบัน ชาวบ้านอยู่ไม่ได้ จึงพากันย้ายไปอยู่บ้าน ต่อเรือ เพราะคนทำนาบริเวณนั้นตายไม่ทราบสาเหตุหลายคน
พ.ศ.2551 ขโมยงัดประตูวิหารพระเจ้าแสนตอง แต่ยกพระเจ้าแสนตองไม่ขึ้น ถุงมือขโมยยังติดอยู่ที่ฐานพระเจ้าแสนตอง จึงนำพระพุทธรูปองค์อื่นไปแทน 2 องค์ ที่สุดตำรวจติดตามคืนมาได้จากป่าจังหวัดแพร่
พระธาตุวัดเจียงเป็นพระธาตุสำคัญอีกองค์หนึ่งมีรูปทรงแปลกไม่พบที่อื่นใด ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้าง ตั้งอยู่ด้านหลังวิหารพระเจ้าแสนตอง เป็นพระธาตุแบบฐานเตี้ย เรือนธาตุยืดสูง สัณฐานเป็นทรงกระบอกหกเหลี่ยมเกลี้ยงๆตรงๆ แล้วสอบช่วงปลายเข้าหากันแบบตรงๆ มียอดฉัตรขนาดเล็ก ชาวเมืองแจ่มเรียกว่า “ทรงผ้าอุ้ม” (ลักษณะผ้าห่อพระธาตุ) ตามตำนานกล่าวว่าพระมหาพรหมชื่อว่า ฆะระติกา ได้นำผ้าจีวรของพระพุทธเจ้ามาบรรจุไว้ข้างใน ตามคำไหว้พระเจดีย์ว่า “ฆะระติกา พรหมา จีวะระ ถานัง ทุสสะติยัง อหังวันทามิสัพพะทา อหังวันทามิสัพพะโส” กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนพระธาตุวัดเจียงและพระธาตุวัดปราสาทเป็นโบราณสถานแล้ว และพระเจ้าแสนตอง ก็ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุ สมบัติวัฒนธรรมของชาติแล้วเช่นกัน
เลขที่ : 53 ม.16 บ้านสันหนอง ต. ช่างเคิ่ง อ. แม่แจ่ม จ. เชียงใหม่ 50270
-
- เจษฏา สุภาศรี : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา :
-