วัดเอ้นหรือวัดพุทธเอ้นสร้างเมื่อ พ.ศ. 2411 เดิมชื่อวัดศรีสุทธาวาส ได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2533 คำว่า “พุทธเอ้น” มาจากคำว่าพุทธเอิ้น (ตะโกนบอก) ตามตำนานสมัยพุทธกาลกล่าวว่าพระพุทธเจ้าเสด็จพร้อมสาวกมา ณ บริเวณนี้ และเรียกให้สาวกนำน้ำมาถวาย เสร็จแล้วทรงบ้วนพระโอษฐ์ลงบ่อน้ำ เกิดเป็นน้ำผุดออกจากใต้พื้นดิน และไหลออกมาไม่ขาดสาย ชาวบ้านถือว่าเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ วัดจึงได้ชื่อวัดพุทธเอิ้น และเพี้ยนเป็นพุทธเอ้น แต่ชื่อ “เอ้น” นี้ อาจมีที่มาจากความหมายในภาษาพม่า ซึ่งแปลว่า “สระน้ำ” เพราะวัดนี้มีโบสถ์อยู่กลางสระน้ำ
วัดพุทธเอ้นเดิมชื่อวัดศรีสุทธาวาสเอ้น เล่ากันว่าผู้สร้างคือ พระเมกุ มีครูบาติวิธะเป็นเจ้าอาวาส ต่อมาสมัยครูบาเทพเป็นเจ้าอาวาสได้สร้างวิหารขึ้น และสมัยเจ้าอาวาสองค์ต่อมาคือครูบาปินตาได้สร้างโบสถ์น้ำขึ้น จนถึงสมัยพระอธิการกองจันทร์เป็นเจ้าอาวาสจึงได้ก่อพระธาตุเจดีย์ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2540
วิหารวัดพุทธเอ้นเป็นวิหารปิด เครื่องไม้ ชั้นเดียว ขนาดกลาง ลักษณะของผังและรูปทรงเป็นแบบล้านนาสกุลช่างเชียงใหม่ ผังสี่เหลี่ยมผืนผ้ายกเก็จ ทำหน้าหลังไม่เท่ากัน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์สำคัญของวิหารสกุลช่างนี้ หลังคาซ้อนชั้น ด้านหน้าสามชั้น ด้านหลังสองชั้น สอดคล้องกับผังและทำเป็นสองตับ ทิ้งชายคาต่ำ โดยเฉพาะหลังมุขหน้าที่ชายคาทิ้งต่ำจนต่ำกว่าระดับศีรษะ อันเป็นสัดส่วนเฉพาะวิหารล้านนาที่ภาคกลางไม่นิยมทำกัน เดิมมีจิตรกรรมฝาผนังที่คาดว่าจะเขียนรุ่นเดียวกับวัดป่าแดด และอาจเป็นช่างคนเดียวกัน มีช่องหน้าต่างขนาดเล็กบานเปิดเดี่ยวแบบล้านนา แต่การบูรณะเมื่อ พ.ศ.2520 จิตรกรรมฝาผนังถูกเขียนใหม่ เหลือให้เห็นของเดิมเพียงส่วนเล็กๆ เหนือประตูเล็กด้านหลัง ส่วนช่องหน้าต่างก็เปลี่ยนเป็นแบบภาคกลางตามที่เห็นในปัจจุบัน
พระธาตุวัดพุทธเอ้นเป็นทรงล้านนา คือ ทำเป็นเจดีย์ทรงกลมบนฐานสี่เหลี่ยมย่อมุม เน้นส่วนที่เป็นมาลัยเถาสามชั้น องค์ระฆังเหลือเพียงองค์เล็กตั้งอยู่เหนือชั้นมาลัยเถา
อุโบสถวัดพุทธเอ้นเป็นอุโบสถน้ำ คือเป็นอาคารตั้งอยู่กลางสระ ซึ่งเป็นรูปแบบอุโบสถที่หาดูได้ยากแล้วในปัจจุบัน คติการสร้างโบสถ์น้ำนี้ก็เพื่อใช้น้ำเป็น “เขตสีมา” หรือ “อุทกเขปปสีมา” กำหนดพื้นที่เฉพาะสำหรับการทำสังฆกรรม แทนการใช้ใบเสมาวางบนพื้นดินโดยรอบอุโบสถตามแบบวัดทั่วไป ซึ่งสามารถกระทำได้ตามพุทธบัญญัติอุโบสถวัดพุทธเอ้นเป็นอาคารขนาดเล็ก เครื่องไม้ ทรงจั่ว หลังคาชั้นเดียว สองตับ เป็นอาคารทรงคุณค่าเพราะนับเป็นตัวแทนของรูปแบบศิลปกรรมแบบประเพณีที่หาดูได้ยากที่ชาวแม่แจ่มควรภูมิใจและอนุรักษ์ให้คงคุณค่าอยู่สืบไป
เลขที่ : ม.15 บ้านพุทธเอ้น ต. ช่างเคิ่ง อ. แม่แจ่ม จ. เชียงใหม่ 50270
-
- เจษฏา สุภาศรี : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา :
-