FL-50270-00010 [ ได้รับทุนจากโครงการ ]
ซอ
Sor
ประเภทวัฒนธรรม
จับต้องไม่ได้ : InTangible.
หมวดหมู่วัฒนธรรม
วรรณกรรมพื้นบ้าน
FL:Folk Literature
บทร้องพื้นบ้าน
ข้อมูล/ประวัติ
ซอ ซอ เป็นเพลงพื้นบ้านที่จัดอยู่ในลักษณะ เพลงปฏิพากย์ โดยการขับซอโต้ตอบกันระหว่างชาย – หญิง เรียกว่า คู่ถ้อง ซึ่งจะใช้ปฏิภาณไหวพริบในการโต้ตอบและแก้ลำบทซอกันฉับพลันทันด่วน ฉะนั้นผู้ที่จะซอได้นั้นต้องมีปฎิภานไหวพริบดี และได้รับการฝึกฝนจนชำนาญ การขับซอนั้นมีมาอย่างไรไม่มีหลักฐานปรากฏชัด แต่อาจจะมีที่มาหลายกหลายที่หลากหลายทาง ทั้งที่เป็นเรื่องราวของความรัก ที่ใช้วาจาเกี้ยวพาราสีโต้ตอบกันไปมา หรืออาจจะคิดค้นฉันทลักษณ์เพื่อการจดจำและทำให้ชวนรับฟังก็เป็นได้ แต่อีกประการหนึ่งที่น่าจะเป็นไปได้นั้น ก็คือ การซอน่าจะมาจากพิธีกรรม เช่นการเลี้ยงผีเป็นต้น ซึ่งปัจจุบันหลายที่หลายทางในการเลี้ยงผีหลวงก็จะมีข้าวจ้ำจะซอเชิญผีให้มารับเครื่องเซ่นหรือมาเข้าประทับร่างของร่างทรง มีท่วงทำนองเสียงสอดประสานสูง ๆ ต่ำ ๆ ทำให้ฟังแล้วไพเราะชวนให้เคลิบเคลิ้มหลงใหล จึงจดจำสืบๆ กันมาและได้พัฒนาออกมาเป็นท่วงทำนองหลากหลาย และมักจะแบ่งออกเป็นสองส่วนด้วยกัน อย่างเช่น ระบำซอทางเชียงใหม่ ซึ่งอาจจะเรียกว่า ซอปี่ ตามเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบ ระบำต่าง ๆ ดังนี้ ระบำตั้งเชียงใหม่ หรืออาจจะเรียกว่าระบำขึ้นเชียงใหม่ก็น่าจะได้ โดยถือว่าเป็นบทไหว้ครู เพราะเป็นระบำแรกในการซอแต่ละครั้ง และมีการเกริ่นนำ และแนะนำว่าการซอต่อจากนี้ไปนั้น จะเป็นการซอเรื่องอะไร ระบำชาวปุ หรือ จะปุ คาดว่าทำนองนี้อาจจะมาจากเมืองปุ อันเป็นหัวเมืองทางเหนือแถบรัฐฉาน โดยการเลื่อนไหลทางวัฒนธรรม ทำนองนี้เป็นทำนองที่หวาน ซึ่งเมื่อไปถึงเมืองแพร่ ก็พัฒนาระบำนี้ออกไปเป็นอีกระบำหนึ่งนั่นคือ ระบำดาดแพร่ สำหรับระบำจะปุนี้ มักจะลงท้ายซอแต่ละบทว่า ‘จิ่มแลนา’ ระบำละม้าย ละม้ายแปลว่าคล้าย คือคล้ายจะปุ โดยฉันทลักษณ์ซอแล้ว ระบำละม้ายจะเหมือนกันทุกประการกับจะปุ แต่ลีลาจังหวะจะเป็นคนละเพลง ซึ่งระบำละม้ายจะมีลีลาจังหวะที่คึกคัก เร้าใจกว่า และเป็นระบำหลักในการซอแต่ละครั้ง และมักจะมีคำลงท้ายซอแต่ละบทว่า ‘จิ่มแลนอง’ ระบำอื่อ เป็นระบำที่พัฒนามาจากเพลงกล่อมเด็กของล้านนา ตัวอย่างเพลงซอทำนองเพลงอื่อ ก็เช่น ซอตำฮายา ซอไก่หน้อยดาววี เป็นต้น ระบำเงี้ยว มาจากเพลงไทยสำเนียงไทยใหญ่ ระบำนี้มีทั้งคึกคักสนุกสนานและความอ่อนหวานปนกันอยู่ มักใช้ในการรำพังรำพัน หรือซอปัดเคราะห์ปัดภัยต่างๆ ระบำพม่า ระบำนี้พัฒนามาจากเพลงไทยสำเนียงพม่า คือ พม่ารำขวานท่วงทำนองหวาน ฉันทลักษณ์ต่างจากซอระบำอื่น ซึ่งฉันทลักษณ์ของซอระบำพม่านี้ เป็นแบบฉบับของร่าย โดยเฉพาะซอที่รู้จักกันดีนั่นก็คือ ซอเจ้าสุวัตร – นางบัวคำ เป็นต้น ซึ่งระบำนี้ได้แพร่กระจายไปสู่เมืองน่าน ก็ได้พัฒนาไปอีกระบำหนึ่ง ดังที่จะกล่าวไปข้างหน้า และพบว่า เต้ยพม่าของทางอีสาน ก็มีท่วงทำนองจังหวะจะโคลนเหมือนกับซอพม่าของทางล้านนาด้วย ระบำบ่าเก่ากลาง คือซอกลางเก่ากลางใหม่ อาจจะได้รับอิทธิพลราชสำนัก(ล้านนา) เข้ามา และมีท่วงทำนองที่ช้า อ่อนหวาน ปรากฏว่าปัจจุบันไม่เป็นที่นิยม กอปรกับหาช่างซอที่ซอระบำบ่าเก่ากลางนี้ได้น้อยเต็มที ระบำพระลอ (ระบำล่องน่าน) ระบำนี้ มีการถ่ายเทและเลื่อนไหลกันอย่างมากมาย ซึ่งเดิมเป็นทำนองล่องน่าน โดยพระราชชายาเจ้าดารารัศมี นำมาใส่บทซอ สำหรับประกอบการแสดงละครซอเรื่องพระลอ และทำให้มีผู้เรียกชื่อระบำไปตามชื่อเรื่องที่แสดงออกไป จนภายหลังแม้แต่เมืองที่เป็นต้นกำเนิดเองยังคงสับสนกับชื่อทำนองนี้ด้วยเช่นกัน ระบำล่องน่าน เป็นชื่อที่เชียงใหม่เรียก เพราะเอาทำนองนี้มาจากทางเมืองน่าน แต่ทำนองจริง ๆ ที่ทางเมืองน่านเรียก คือระบำลับแลง ระบำนี้เป็นการนำมาปรับเข้าปี่ และทางเมืองน่านมักไม่มีคำลงท้ายซอ แต่เชียงใหม่นิยมคำลงท้ายซอ เฉกเช่นระบำจะปุ หรือละม้าย ทำให้ต้องมีคำลงท้ายซอระบำนี้ไปด้วย โดยมักจะลงเป็นว่า “โอ้ละนอ ละนอ น้องเอย” ซอพื้นบ้าน ซอ เป็นวรรณกรรมแบบมุขปาฐะ โดยทั่วไปมักจะเป็นการโต้ตอบกันด้วยปฏิภาณระหว่างช่างซอชายและช่างซอหญิง อำเภอแม่แจ่ม เป็นอำเภอที่ผู้คนนิยมฟังซอกันอย่างมาก จะพบเห็นว่า ในงานเฉลิมฉลองต่างๆ มักจะมีการว่าจ้างช่างซอมาซอให้ความบันเทิงอยู่ตลอดเวลา บางวัดนิยมสร้างผามซอ หรือเวทีซอแบบถาวรไว้กับวัด การการฟังซอของชาวแม่แจ่ม เป็นการฟังแบบตั้งใจ เข้าใจถึงถ้อยคำและจังหวะ ว่ากันว่า ช่างซอคนไหนซอผิด หรือช่างปี่คนไหนเป่าปี่ผิด ชาวบ้านแม่แจ่มจะรู้ได้โดยทันที จากการรับฟังซออย่างตั้งใจนี้ ทำให้ชาวแม่แจ่มบางท่านสามารถแต่งบทซอได้ อย่างเช่น ซอ 4 บาท, ซอเพลงสวนหอมและสวนกะหล่ำ ดังที่กล่าวมาข้างต้นนั้น นอกจากนี้ยังมีช่างซอรับจ้าง ที่ลงผามหรือเลิกซอไปแล้วก็มี เช่น แม่ผัน บ้านเหล่าป่าก่อ เป็นต้น ปัจจุบัน ช่างซอรับจ้างตามงาม ที่มาจากแม่แจ่ม ก็มีอยู่ 3 คนด้วยกัน คือ “อ้อมจันทร์ แม่แจ่ม” หรือชื่อจริง คือ นางอวิกา แก้วเมืองมา , “คำหน้อย แม่แจ่ม” หรือชื่อจริงคือ นางธารทิพย์ บุญเทียม และแก้วลี แม่แจ่ม หรือชื่อจริงคือ เกวลี มังกาละ นอกจากการซอจะใช้ในการให้ความบันเทิงในงานเฉลิมฉลองต่างๆ แล้ว ซอ ยังใช้ในพิธีกรรมด้วย โดยเฉพาะการเลี้ยงผีเมือง ซึ่งในการเชิญเจ้าหลวงมานั้น จะต้องมีการซอเชิญ ในแต่ละหอ จะมีคนที่ทำหน้าที่เป็นช่างปี่ และช่างซอ ประจำหอเจ้าหลวงนั้นๆ ด้วยเสมอ โดยการซอในงานพ่อเจ้าหลวงนั้น ช่างซอจะเริ่มตั้งแต่ ตั้งเชียงใหม่ กลายเชียงแสน จะปุ และปิดท้ายด้วยทำนอง ละม้าย อันเป็นทำนองหลักในการเชิญ (สัมภาษณ์นายก้อนแก้ว ทะบุญ, 2560) สมัยก่อนนั้นการเรียนซอเป็นสิ่งที่ค่อนข้างยากลำบากมากเพราะไม่มีสื่อวัสดุอุปกรณ์ที่อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้เหมือนปัจจุบันผู้เรียนหรือผู้ที่จะมารับการถ่ายทอดนั้นจะต้องไปทำพิธีขึ้นครูซอกับช่างซอรุ่นครูที่มีความรู้ความสามารถหรือมีชื่อเสียงหรือช่างซอที่ตัวเองนิยมชื่นชอบและมีความศรัทธาในความรู้ความสามารถตลอดถึงลิลาการซอ โดยสิ่งที่จะต้องเตรียมคือเครื่องบูชาครูประกอบด้วยสิ่งต่างๆดังต่อไปนี้ 1. สวยดอกที่พร้อมธูปเทียน16 สวย 2. สวยหมากพลู 16 สวย 3. หมาก 1 หมื่น (100เส้น) 4. พลู 1 มัด 5. ผ้าขาว ผ้าแดง 6. ข้าวเปลือก, ข้าวสาร 7. เครื่องปรุงอาหาร เช่น กะปิ ปลาร้า ข่า ขิง ตะไคร้ หัวหอม กระเทียม พริก เกลือ เป็นต้น 8. เหล้า 1 ขวด 9. เสื่อพร้อมหมอน 1 ชุด 10. เงิน 36 บาท


ที่ตั้ง
เลขที่ : บ้านอาฮาม ต. ท่าผา อ. แม่แจ่ม จ. เชียงใหม่ 50270
บุคคล/กลุ่มผู้ให้ข้อมูล
- นายธีรพงษ์ บุญเทียม
ผู้บันทึกข้อมูล
- เจษฏา สุภาศรี : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา :
ช่องทางติดต่อ
-
มีผู้เข้าชมจำนวน :432 ครั้ง
บันทึกข้อมูลเมื่อวันที่ : 19/08/2022 - ปรับปรุงล่าสุดวันที่ : 21/12/2024