AR-31000-00005
ภูมิปัญญาการเก็บข้าว
ประเภทวัฒนธรรม
จับต้องได้ : Tangible.
หมวดหมู่วัฒนธรรม
สถาปัตยกรรม
AR:ARchitecture
แหล่งภูมิปัญญาท้องถิ่น
ข้อมูล/ประวัติ
ภูมิปัญญาในการเก็บรักษาข้าว ชาวไทยเรามีภูมิปัญญาในการเก็บรักษาข้าวที่สืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน โดยมีวิธีการเก็บรักษาข้าวทั้งเพื่อการเพาะปลูกในปีถัดไป เพื่อการบริโภคตลอดปี และเพื่อการค้า ดังนั้นชาวนาจึงมีความพิถีพิถันในการเก็บรักษาข้าวในทุกขั้นตอนกล่าวคือ กรณีเก็บข้าวเป็นเมล็ดข้าวเปลือกมีความยุ่งยากซับซ้อนหลายขั้นตอนประกอบกับในระหว่างการจัดการเป็นเมล็ดข้าวจะมีฝุ่นละอองจำนวนมาก ถ้าใครแพ้ก็จะไม่สามารถเข้าใกล้ได้เลย ดังนั้นเมื่อข้าวสุกเต็มที่พร้อมในการเก็บเกี่ยวชาวนาจะนำเอามูลวัวหรือมูลควายมาทาในพื้นที่นาที่ทำการถากถางให้เรียบแล้วเมื่อลานแห้งสนิทเรียกว่า “ลานข้าว” สาเหตุที่ต้องใช้มูลวัวหรือมูลควายเนื่องจากมีคุณสมบัติต่อการป้องกันมอดมากัดกินเมล็ดข้าว เมื่อฟาดข้าวเสร็จต้องทำการตากข้าวไว้ที่ลานข้าวนี้ระยะหนึ่งก่อนลำเรียงด้วย กระชุ หรือเสวียน(ภาชนะใส่ข้าว)เอาขึ้นเกวียนแล้วลำเรียงไปเก็บที่ยุ้งข้าวต่อไป แต่ก่อนที่ดำเนินการแต่ละขั้นตอนที่กล่าวไปแล้วนั้นชาวนาไทยจะต้องทำพิธีกรรมในทุกขั้นตอน เช่น ทำบุญคูณลาน ทำบุญข้าวขึ้นยุ้ง เป็นต้น   ความเชื่อในด้านที่ตั้งของยุ้งข้าวในบริเวณบ้าน บริเวณบ้านชาวไทยเชื่อว่ายุ้งข้าวจะต้องอยู่ทางด้านทิศเหนือของตัวบ้านพักอาศัยเสมอ โดยคนแก่ในสมัยโบราณมักมีคำกล่าวที่ว่า “ยุ้งข้าวอยู่เหนือยุ้งเกลืออยู่ใต้” ยุ้งเกลือหมายถึง พื้นที่ห้องครัวของบ้านพักอาศัยจะต้องอยู่ทางทิศใต้นั่นเอง นอกจากนั้นยังมีข้อปฏิบัติ เช่น การกำหนดระยะห่างของยุ้งข้าวจากตัวบ้านพักอาศัย คนแก่ในสมัยโบราณมีข้อควรถือปฏิบัติดังต่อไปนี้ ให้เอาไม้ที่จะก่อสร้างยุ้งข้าวส่วนใดก็ได้ที่ยาวที่สุด มาวัดระยะห่างจากเสาบ้าน(เสาที่ใกล้ยุ้งข้าวที่สุด)โดยให้ปลายด้านหนึ่งชิดที่ขอบเสาบ้านปลายไม้อีกด้านหนึ่ง ซึ่งจะต้องห่างจากผนังของยุ้งข้าวพอสมควรจึงจะถือว่าเป็นตำแหน่งที่ดี เหมาะสมในการเป็นที่ก่อสร้างยุ้งข้าว แต่ถ้าไม้ดังกล่าวโดนผนังของยุ้งข้าวพอดี หรือทิ่มแทงเข้าไปในยุ้งข้าวจะถือว่าไม่ดี เนื่องจากโบราณถือว่าจะส่งผลให้ข้าวที่อยู่ในยุ้งรั่วไหลออก ทำให้ไม่พออยู่พอกินนั่นเอง หรือห้ามให้เงาของยุ้งข้าวทับตัวบ้าน และหรือเงาของตัวบ้านทับยุ้งข้าว เพราะจะทำให้ไม่เป็นมงคลแก่บ้านพักอาศัย มีความเชื่อว่า มีดาวช้างอยู่ทางทิศเหนือ ซึ่งจะส่งผลต่อการตั้งยุ้งข้าว และการไม่หันหน้าหรือประตูยุ้งข้าวไปในทิศทางนั้น เนื่องจากช้างมันกินไม่อิ่ม กินจุมาก จากความเชื่อดังกล่าว จึงส่งผลให้ห้ามหันประตูยุ้งข้าวไปในทิศนั้น ในการวางที่ตั้งของบ้านกับยุ้งข้าวนั้น ทั้งสองจะต้องมีความสัมพันธ์กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ตามความเชื่อของเขาเหล่านั้น ซึ่งพอจะอธิบายการวางตำแหน่งของบ้านพักอาศัยกับยุ้งข้าวดังนี้ กรณีที่มีพื้นที่ดินว่างเปล่าไม่มีสิ่งปลูกสร้างใดๆ จะต้องวางแผนการสร้างบ้านพักอาศัยก่อนเมื่อดำเนินการก่อสร้างบ้านพักอาศัยแล้วเสร็จจึงดำเนินการก่อสร้างยุ้งข้าว จะนิยมวางยุ้งข้าวไว้บริเวณใดก็ได้ แต่ห้ามวางไว้บริเวณหลังบ้านที่ตัวบ้านบังไม่สามารถมองเห็นได้มันไม่ดีจะไม่มีอยู่มีกิน และนิยมวางไว้ในแนวทำมุมทแยงกับตัวบ้าน ซึ่งจะอยู่หน้าบ้านหรือหลังบ้านก็ได้ กรณีพื้นที่มีการปลูกสร้างทั้งบ้านพักอาศัยและยุ้งข้าวแล้วเสร็จ แต่จะมีการรื้อย้ายบ้านพักอาศัยแล้วดำเนินการก่อสร้างใหม่ จะมีข้อห้ามดังนี้ ถ้าจะมีการสร้างบ้านใหม่จะต้องไม่ข้ามยุ้งข้าวไปฝั่งใดฝั่งหนึ่ง จะทำให้บ้านนั้นอยู่ไม่สบาย จะมีอันเป็นไป ในขณะเดียวกันถ้าจะมีการรื้อย้ายยุ้งข้าวเพื่อก่อสร้างใหม่ จะต้องไม่ข้ามตัวบ้านพักอาศัยไปฝั่งใดฝั่งหนึ่งเช่นกัน กรณีหากจะต่อเติม พื้นที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของบ้านพักอาศัย หรือยุ้งข้าว จะต้องไม่ทำการต่อเติมให้หลังคาของอาคารทั้งสองจะต้องไม่ต่อมาชนกัน ต่อมาเกยกันเป็นอันขาด ซึ่งหากมีการต่อเกยกันหรือเชื่อมต่อกัน จะส่งผลให้ผู้อยู่อาศัยไม่สบาย เจ้าของบ้านอาจเจ็บไข้ได้ป่วย ทำมาหากินไม่ขึ้นไม่เกิน ความเชื่อในทิศทางการหันหน้าของยุ้งข้าว ชาวไทยเรามีความเชื่อในเรื่องของทิศ และจะถือเป็นแนวปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างต่อเนื่อง ยุ้งข้าวกับมีความเชื่อที่แตกต่างออกไป เชื่อว่าการหันประตูถุงเล้า(ยุ้งข้าว)ไปทางทิศเหนือเป็นสิ่งที่ไม่ดี โดยมีคำสอนที่สืบทอดต่อกันมาว่า “ ทิศใต้อดเกลือทิศเหนืออดข้าว ” ดังนั้นจากคำสอนดังกล่าวส่งผลให้ต้องหันประตูยุ้งข้าวไปทางทิศใดก็ได้ยกเว้นทิศเหนือ เพราะถ้าหากหันไปทางทิศเหนือจะทำให้อดอยากไม่มีข้าวในยุ้งไว้กิน มีความเชื่อว่าประตู “เล่าเข่า” (ยุ้งข้าว)ไม่ควรหันหน้าไปทางทิศดาวช้างอยู่ (ทิศดาวช้างหมายถึง ทิศเหนือ) เพราะช้างเป็นสัตว์ใหญ่กินไม่อิ่ม ไม่เต็ม และไม่เป็นมงคล ซึ่งจะส่งผลให้ข้าวในเล่า(ยุ้ง)ไม่เต็ม และจะทำให้อดอยากตามมา ชาวไทยภาคเหนือก็มีความเชื่อที่แตกต่างออกไป โดยเชื่อว่ายุ้งข้าวจะต้องตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของบ้าน เพื่อแสดงถึงความมั่งคั่งของเจ้าของบ้าน ส่วนประตูของยุ้งข้าว จะไม่นิยมหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เนื่องจากเชื่อว่าข้าวจะออกจากยุ้งข้าวทำให้ไม่พออยู่พอกินนั่นเอง ควรหันประตูยุ้งข้าวไปทางทิศตะวันตกจะเป็นมงคล และจะทำให้ข้าวแห้งเร็วไม่ชื้นนั่นเอง


ที่ตั้ง
เลขที่ : สนวนนอก ต. สนวน อ. ห้วยราช จ. บุรีรัมย์ 31000
บุคคล/กลุ่มผู้ให้ข้อมูล
-
ผู้บันทึกข้อมูล
- ดร.จิรายุฑ ประเสริฐศรี : มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ :
ช่องทางติดต่อ
-
มีผู้เข้าชมจำนวน :396 ครั้ง
บันทึกข้อมูลเมื่อวันที่ : 15/08/2022 - ปรับปรุงล่าสุดวันที่ : 15/08/2022