ลักษณะเฉพาะ : ก่อตั้งขึ้นโดยพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (ศุข ดิษยบุตร ขณะนั้นมีบรรดาศักดิ์เป็นพระภักดีณรงค์) ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายใน พ.ศ. 2451 ซึ่งมีที่ตั้งเดิมอยู่บริเวณเชิงดอยวัดงำเมือง ต่อมาได้ย้ายมาที่บริเวณริมถนนบรรพปราการใน พ.ศ. 2481 ได้มีการสร้างตึกบัญชาการ ณ ตำแหน่งปัจจุบัน คือ โรงเรียนสามัคคี-วิทยาคม อาคาร 1 และเป็นอาคารหลังเดียวที่ยังคงเหลืออยู่มาจนถึงปัจจุบัน ลักษณะของอาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์น (Modern Architecture) โดยมีพัฒนาการที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
พ.ศ. 2451 พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (ศุข ดิษยบุตร) แต่ครั้งมีบรรดาศักดิ์เป็น พระภักดีณรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย รับนโยบายรัฐบาลมาเรียกประชุมข้าราชการ เอกชนพร้อมด้วยคณะสงฆ์ในจังหวัด เห็นชอบพร้อมกันให้จัดตั้งสถานศึกษาประจำจังหวัด ณ ที่ดินประมาณหนึ่งไร่บริเวณเชิงดอยวัดงำเมือง ขนานนามว่า และให้ตั้งชื่อว่า “โรงเรียนประจำจำหวัดเชียงรายสามัคคีวิทยาคม” ในครั้งนั้นเปิดสอนระดับประถมศึกษาสายสามัญ รับนักเรียนทั้งชายและหญิง อาคารเรียนเป็นเรือนไม้ไต้ถุนสูง ประกอบด้วยห้องเรียนหกห้อง แยกเรียนหญิงชาย เป็นเพราะมีสมณเพศเข้าเรียนด้วย โดยเรียกฝ่ายหญิงว่า “โรงเรียนบำรุงกุมารี”
ต่อมา พ.ศ. 2467 พระยาราชเดชดำรง (ผล ศรุตานนท์) ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เห็นว่าโรงเรียนคับแคบจนไม่อาจขยายได้อีก จึงได้มีการสมทบทุนเพื่อย้ายที่ตั้งจากเชิงดอยวัดงำเมืองมายังที่ตั้งชั่วคราวเพื่อรอการสร้างที่ทำการถาวร โดยระดับประถมศึกษาทั้งชายและหญิงให้ไปเรียนยังศาลาวัดมิ่งเมือง ถนนบรรพปราการ อำเภอเมืองเชียงราย ส่วนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่เปิดเพิ่มขึ้นนั้นให้ไปเรียนที่วัดเจ็ดยอด ถนนพหลโยธิน อำเภอเมืองเชียงราย โดยเรียนรวมทั้งชายและหญิง
พ.ศ. 2468 ฝ่ายทหารบกได้โอนที่ทำการทั้งหมดให้จังหวัดเชียงราย ด้วยเหตุนี้จังหวัดจึงให้ย้ายนักเรียนมัธยมศึกษาทั้งชายและหญิงจากวัดเจ็ดยอดมาเรียนยังสโมสรทหารบก (เชิงพระธาตุดอยทอง) ส่วนประถมศึกษาทั้งชายและหญิงมีคำสั่งให้แยกไปตั้งเป็น “โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์” ดังนั้นโรงเรียนประจำจังหวัดเชียงรายสามัคคีวิทยาคมจึงมีเฉพาะระดับมัธยมศึกษานับแต่นั้นมา
พ.ศ. 2470 หลวงกิตติวาท ศึกษาธิการจังหวัดเชียงราย อนุมัติงบประมาณบำรุงการศึกษาของจังหวัดให้เรืออากาศตรีขุน มีนะนันทน์ ซี่งเป็นครูใหญ่ขณะนั้นไปปรับปรุงอาคารกองร้อยทหารบก (ดอยจำปี-จำปา ที่ตั้งศาลากลางจังหวัดเชียงราย) และได้ย้ายไปจัดการเรียนการสอนที่นี่และได้ขยายชั้นเรียนไปถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
จนเข้าสู่ยุคการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 นายบุญสิงห์ บุญค้ำ ศึกษาธิการจังหวัดเชียงราย และประธานกรรมการควบคุมการก่อสร้างโรงเรียนร่วมกับภาคส่วนอื่น ๆ ทำการจัดซื้อจัดหาที่ดินใช้สถาปนาอาคารถาวร ณ วัดป่าแดงและพื้นที่โดยรอบบริเวณถนนบรรพปราการ อำเภอเมืองเชียงราย รวมทั้งสิ้นประมาณห้าสิบไร่ ในการนี้ใช้แรงงานนักโทษตามคำสั่งผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัด
ระหว่างการก่อสร้างได้มีการขุดพบพระพุทธรูปโบราณองค์หนึ่ง ณ บริเวณซึ่งต่อมาเป็นเสาธงโรงเรียน กรมศิลปากรสันนิษฐานว่ามีอายุกว่าห้าร้อยปีย้อนหลังไปถึงสมัยหิรัญนครเงินยาง ภายหลัง ในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก จึงประทานนามว่า “พระพุทธมณีไมตรีรัตนะ” มีความหมายว่า “อัญมณีแห่งมิตรภาพอันล้ำค่า” เป็นพระพุทธรูปเชียงแสน รุ่นสิงห์สาม พระรูปหล่อเป็นทองสัมฤทธิ์ มีขนาดเท่ากับเด็กโต นั่งสมาธิยาว 17 นิ้ว ปัจจุบันประดิษฐานเป็นพระประธาน ตั้งอยู่ ณ หอประชุมอาคาร 1 ของโรงเรียน (สัญลักษณ์. เข้าถึงจาก https://sawadee.wiki/wiki/Samakkhi_Witthayakhom_School. สืบค้นเมื่อ 25 มีนาคม 2565)
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 ร้อยเอก พระพนมนครานุรักษ์ (ฮกไก่ พิศาลบุตร) ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้เป็นประธานพิธีเปิดตึกบัญชาการโรงเรียนและประกาศให้ใช้ชื่อโรงเรียนใหม่ว่า “โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม”
เลขที่ : ชุมชนประตูเชียงใหม่ ต. เวียง อ. เมืองเชียงราย จ. เชียงราย 57000
-
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดุจฤดี คงสุวรรณ์ : มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย :
-