ลักษณะเฉพาะ : คริสตจักรที่ 1 เวียงเชียงราย เป็นโบสถ์หลังแรกในเมืองเชียงรายที่นายแพทย์วิลเลียม เอ.บริกส์ มิชชันนารีคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียนได้ซื้อที่ดินแปลงนี้บริเวณประตูสรีเมื่อ พ.ศ. 2453 และเริ่มสร้างพระวิหารขึ้นใน พ.ศ. 2455 โดยอาศัยเงินทุนจากคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียนที่ขอรับบริจาคมา หากแต่พบปัญหาในเรื่องงบประมาณอยู่บ้างทำให้การก่อสร้างต้องล่าช้าและเริ่มอย่างจริงจังใน พ.ศ. 2455 ใช้เวลาปีเศษจึงสำเร็จ หลักฐานจากศิลาหัวมุมทำให้ทราบว่าได้มีการฉลองโบสถ์อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2457
ตามประวัติโบสถ์คริสตจักรที่ 1 เวียงเชียงราย ได้รับสถาปนาเป็นคริสตจักร เมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2433 โดยไม่มีการก่อสร้างอาคารพระวิหาร ใช้ในการนมัสการตามสถานที่ต่าง ๆ จากบันทึกบางตอนของนายแพทย์ วิลเลี่ยม เอ. บริกส์ มี (William A. Briggs) ความว่า “พวกเราต้องการพระวิหารที่ไม่เพียงแต่จะอำนวยความสะดวกให้แก่สมาชิกเท่านั้น แต่จะเป็นอาคารถาวรของคริสตจักร และเป็นหน้าตาของเมืองเชียงราย” ใน พ.ศ. 2453 – 54 นายแพทย์วิลเลี่ยม เอ บริกส์ จึงรวบรวมเงินจากผู้ศรัทธาถวายได้เงินจำนวนหนึ่ง เพื่อซื้อที่ดินสร้างอาคารพระวิหาร ตั้งอยู่บริเวณประตูเมืองเชียงราย บริเวณ “ประตูสลี” ซึ่งเป็นที่ตั้งคริตสจักรในปัจจุบัน เป็นเงิน 854.86 บาท มีการเตรียมการก่อสร้างรากฐานอาคารโบสถ์ ได้ดำเนินการก่อสร้างไปช่วงหนึ่งจึงอยู่เพราะขาดงบประมาณ ต่อมาใน พ.ศ. 2457 จึงได้รับเงินสนับสนุนจากคริสตจักรโอเวอร์บุรุ๊ค รัฐเพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา เป็นเงิน 4,000 เหรียญ เพื่อก่อสร้างและได้จัดพิธีวางศิลาหัวมุม โดยศาสนาจารย์ ดับเบิ้ลยู.ซี.ดอร์ด ในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2457
โบสถ์หลังนี้ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่เมื่อสิ้นสุดมหาสงครามเอเชียบูรพา (สงครามโลกครั้งที่ 2) ราว พ.ศ. 2489 หลังชำรุดทรุดโทรมเนื่องจากถูกยึดใช้เป็นส่วนหนึ่งของเขตทหารที่มาตั้งมั่นอยู่ในเมืองเชียงราย และพวกมิชชันนารีจำต้องออกนอกประเทศไทย จนเมื่อเสร็จสิ้นจากสงครามเหล่ามิชชันนารีจึงมีความยินดียิ่งนักที่ได้กลับมาใช้โบสถ์นี้เป็นที่นมัสการอีกครั้ง (https://www.museumthailand.com/th/175/webboard/topic/, 2560)
ตัวอาคารมีการวางผังพื้นแบบเรียบง่ายตรงไปตรงมา ส่วนตกแต่งต่าง ๆ ของอาคารเน้นรายละเอียดที่เรียบง่าย เป็นอาคาร 2 ชั้นผนังก่ออิฐฉาบปูน หลังคาโครงสร้างไม้ขนาดใหญ่ทรงจั่วที่มีความลาดชันมาก นับเป็นจุดเด่นของอาคาร ซึ่งเป็นหน้าจั่วใช้แผ่นไม้ตีตามแนวนอนอย่างประณีตและใช้การเปิดช่องแสงด้วยการเปิดช่องประตูหน้าต่างเป็นแบบตะวันตกที่ได้รับการออกแบบอย่างสวยงามแปลกตา
โบสถ์หลังนี้มีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล มีจุดเด่นเป็นหอระฆังด้านหน้าอาคาร ที่สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2475 ส่วนระฆังนำเข้าจากสหรัฐอเมริกาปัจจุบันระฆังใบนี้ถูกนำมาเก็บไว้ที่ศาลาข้างวิหาร เนื่องจากหอระฆังเก่าแก่จนรับน้ำหนักระฆังไม่ไหว
โบสถ์หลังนี้มีแผนผังอาคารเป็นรูปกางเขน (Latin cross) แบ่งการใช้งานออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้ส่วนห้องโถงหลัก (Nave) สำหรับประกอบพิธีกรรม มีความยาวตลอดทางเข้าด้านหน้าถึงแท่นบูชา (Alter) ส่วนปีกทิศเหนือและทิศใต้ของอาคาร (Transept) ทำเป็นชั้นลอย โดยฝีมือการต่อเติมของนายช่างฮิมกี่เมื่อ พ.ศ. 2475 ที่แนวใต้ชั้นลอยทำเป็นซุ้มโค้งก่ออิฐถือปูนข้างละ 3 ซุ้ม ซึ่งรับกันดีกับซุ้มโค้งของช่องแสงเหนือประตูและหน้าต่างของอาคารส่วนท้ายของโบสถ์ซึ่งมีหลังคาต่ำกว่าห้องโถงหลักเคยใช้เป็นห้องเรียนพระคัมภีร์สำหรับเด็ก ๆ
โครงสร้างของอาคารโดยทั่วไปเป็นระบบกำแพงรับน้ำหนักที่ก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่กว่าอิฐทั่วไป ที่ผนังด้านซ้ายภายนอกอาคารติดแผ่นศิลาสลักหลายเลข 1914 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่โบสถ์หลังนี้สร้างเสร็จ มุขด้านหน้าและด้านข้างก่อเป็นเสาสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ 4 ต้นเพื่อรองรับน้ำหนักแผงหน้าจั่วที่เป็นแผ่นไม้ตีซ้อนเกล็ดตรงกลางของแผงหน้าจั่วทำช่างหน้าต่างปิดเปิดได้ และที่เหนือหลังคาทางเข้าด้านหน้ามีหอคอยโถงสี่เหลี่ยมสำหรับแขวนระฆังที่ใช้ประกอบพิธีกรรมของโบสถ์ หลังคาเป็นโครงสร้างเหล็กมุงกระเบื้องว่าว สีน้ำตาลแดงกลมกลืนกับสีน้ำตาลเข้มของของแผ่นไม้ที่แผงหน้าจั่วและตัดปูนขาวของผนังปูนฉาบ ตรงกึ่งกลางด้านหน้าของหลังคาปีกนก มีป้ายกรอบไม้ระบุชื่อคริสตจักรที่ 1 เวียงเชียงราย พร้อมสัญลักษณ์กางเขนสีแดงบนพื้นสีขาว
โบสถ์หลังนี้มีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล มีจุดเด่นเป็นหอระฆังด้านหน้าอาคาร ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวคริสต์ถูกสั่งให้ระงับกิจทางศาสนาทุกอย่าง และโบสถ์หลังนี้ถูกใช้เป็นที่เก็บเสบียงของกองทัพทหารญี่ปุ่น หลังสงครามยุติลงรัฐบาลจึงคืนโบสถ์ให้แก่ชาวคริสต์ โบสถ์หลังนี้ได้รับการซ่อมแซมใหญ่มาแล้ว 3 ครั้ง ครั้งล่าสุดราว พ.ศ. 2540 ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างไม้เป็นเหล็กและจากกระเบื้องดินขอเป็นกระเบื้องว่าวซีเมนต์
เลขที่ : เทศบาลนครเชียงราย ต. เวียง อ. เมืองเชียงราย จ. เชียงราย 57000
-
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดุจฤดี คงสุวรรณ์ : มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย :
-