AS-57000-00006
วัดศรีบุญเรือง และพิพิธภัณฑ์ใบลานล้านนา
watsriboonruanglaeaphiphithphanbailanlanna
ประเภทวัฒนธรรม
จับต้องได้ : Tangible.
หมวดหมู่วัฒนธรรม
โบราณสถาน
AS:Archeological Site
ย่านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
ข้อมูล/ประวัติ
ตามประวัติที่บันทึกไว้ในพับสาจดหมายเหตุเมืองเชียงราย กล่าวว่าสร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 1982 พระครูปัญญาลังการ (คำปัน ขตฺติโย) พระครูขัติยะหรือพระดวงต๋า อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีบุญเรือง เล่าว่าเมื่อ พ.ศ. 2389 ครูบาอินทจักรังสีได้เดินทางจากเชียงใหม่มาอยู่วัดวังธาน (อยู่บริเวณปากแม่น้ำลาว) เจ้านายเมืองเชียงรายได้นิมนต์มาอยู่วัดศรีบุญเรืองในเขตเวียงเชียงราย โดยกล่าวว่าชื่อวัดศรีบุญเรืองมาจากการที่ปู่บุญเรืองนำไม้สรี (โพธิ์) มาปลูกในวัด จึงได้ชื่อว่า “วัดศรีบุญเรือง” ดังจดหมายเหตุเมืองเชียงรายซึ่งปริวรรตโดยนักวิชาการอิสระ ความว่า “...ประวัติวัดสรีบุญเรือง สกราชเท่าใดไม่ซาบ มีครูบาอินทจักรังสี ได้ลุกจากเชียงใหม่ ขึ้นมาตั้งอารามอยู่วัดวังธานก่อน แล้วเจ้านายบ้านเมืองค็จัดเอาราสดอรเข้ามาอยู่ในเวียง ท่านค็พาเอาสัทธาเข้ามาตั้งอยู่ที่วัดสรีบุญเรือง เวลาเมือเข้ามาตั้งวัดนี้ ยังมีสัทธาคน 1 ชื่อว่าปู่บุญเรือง หาได้ยไม้สรีต้น 1 ที่มาปลูกไว้ยที่แจ่งวัด ยังอยู่ต่อเท้าบัดนี้ จึงตั้งชื่อวัดว่า วัดสรีบุญเรือง มาแล...” (อภิชิต ศิริชัย, 2558) สมัยพระครูปัญญาลังการ (คำปัน ขตฺติโย) เป็นเจ้าอาวาส ได้ทำการสร้างวิหาร (จารึกอิฐระบุปีที่สร้าง พ.ศ. 2455) โดยททำสร้างเจดีย์ ศาลาบาตร กำแพงขึ้นใหม่ทั้งวัด ดังปรากฏในจดหมายเหตุเมืองเชียงราย ความว่า “...วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2481 ได้รับสัญญาบัตเปนพระครูปัญญาลังการ อยู่ต่อมานานแล้ว ค็ได้สร้างวิหารขึ้น 1 หลัง หลูบพระธาตุขึ้น 1 หลัง สาลาบาตร กำแพงขึ้นใหม่หมดทุกอย่าง ประดับแท่นแก้วเสร็จ ไม่จำสกราช แล้วทุนค่าที่ได้เสี้ยงไพนั้นแล้ว...” (อภิชิต ศิริชัย, 2558) การะทั่ง พ.ศ. 2500 ภายหลังเมื่อวัดเชียงมั่น (ปัจจุบันคือพื้นที่โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์) วัดประจำคุ้มเจ้าหลวงเชียงรายได้ร้างลง แม่เจ้าจันทร์สุข อินทวงศ์ ได้อาราธนาพระครูปัญญาลังการ ให้ทำพิธีสูตถอนและอัญเชิญพระพุทธรูปสำริด เครื่องทองเหลือง คัมภีร์ใบลานพับสาจากวัดเชียงมั่นเท่าที่สามารถขนได้ มาเก็บไว้ยังวัด ศรีบุญเรือง ปัจจุบันพระพุทธรูปจากวัดเชียงมั่นยังคงประดิษฐานอยู่ในวิหารวัดศรีบุญเรือง และใน พ.ศ. 2546 ได้รื้อวิหารหลังเดิมที่พระครูปัญญาลังการสร้างแล้วทำการสร้างวิหารขึ้นใหม่ เป็นวิหารศิลปะล้านนา อาคารเสนาสนะของวัดประกอบด้วยวิหาร เจดีย์ ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ หอฉัน หอระฆังและศาลาพักร้อนตามแบบสถาปัตยกรรมล้านนา ด้านหลังวัดเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น


ที่ตั้ง
เลขที่ : ชุมชนศรีบุญเรือง ต. เวียง อ. เมืองเชียงราย จ. เชียงราย 57000
บุคคล/กลุ่มผู้ให้ข้อมูล
-
ผู้บันทึกข้อมูล
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดุจฤดี คงสุวรรณ์ : มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย :
ช่องทางติดต่อ
-
มีผู้เข้าชมจำนวน :472 ครั้ง
บันทึกข้อมูลเมื่อวันที่ : 16/11/2022 - ปรับปรุงล่าสุดวันที่ : 16/11/2022