ตามประวัติเล่าว่าเมื่อ พ.ศ. 1897 ในสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกน เป็นเจ้าเมืองครองเชียงใหม่นั้น ฟ้าได้ผ่าเจดีย์ร้างองค์หนึ่งและได้พบพระพุทธรูปลงรักปิดทองอยู่ภายในเจดีย์ต่อมารักกะเทาะออก จึงได้พบว่าเป็นพระพุทธรูปสีเขียวที่สร้างด้วยหยก ซึ่งก็คือ พระแก้วมรกตในปัจจุบัน
วัดพระแก้ว จังหวัดเชียงราย เป็นที่ประดิษฐานพระหยก ซึ่งสร้างขึ้นใหม่ในวาระที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระชนมายุครบ 90 พรรษา
วัดพระแก้วมีพระประธานคือ พระเจ้าล้านทอง
พระพุทธรูปสำคัญคือ พระพุทธรัตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคล หรือ “พระหยกเชียงราย” เพราะเป็นวัดที่ถูกบันทึกว่าพบพระแก้วมรกตเป็นครั้งแรก
พระเจดีย์ภายในวัดที่เชื่อว่าพบพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) ก่อนอัญเชิญไปประดิษฐานตามเมืองต่าง ๆ และประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดารามในปัจจุบัน
พระแก้วมรกตหรือพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรในปัจจุบัน ตามตำนานรัตนพิมพ์วงศ์ กล่าวไว้ว่า “เมื่อประมาณ พ.ศ.300 เทวดาได้สร้างพระแก้วมรกต ถวายพระนาคเสนเถระที่เมืองปาฎลีบุตร (ปัจจุบันเรียกปัตนะ) ประเทศอินเดีย ต่อมาได้อัญเชิญไปไว้ที่เมืองลังกา ในสมัยพระเจ้าอโนรธามังฉ่อ (พระเจ้าอนุรุทธะ) แห่งเมืองพุกามได้ส่งพระสมณะทูตไปขอจากเจ้าเมืองลังกา ซึ่งถูกพวกทมิฬรุกราน จึงมอบพระแก้วมรกตและพระไตรปิฎกให้ แต่สำเภาที่บรรทุกพัดหลงไปเกยอยู่ที่อ่าวเมืองกัมพูชา พระแก้วมรกตจึงตกเป็นของกัมพูชา และต่อมาได้ถูกนำไปไว้ที่เมือง อินทาปัฐ (นครวัด) กรุงศรีอยุธยาและกำแพงเพชร ตามลำดับ เมื่อประมาณ พ.ศ. 1933 พระเจ้ามหาพรหม เจ้าเมืองเชียงราย ได้ไปอัญเชิญพระแก้วมรกตมาจากเมืองกำแพงเพชรและนำมาซ่อนไว้ที่เจดีย์วัดป่าเยียะ เมืองเชียงราย กระทั่ง พ.ศ. 1977 เกิดอสนีบาต (ฟ้าผ่า) เจดีย์ จึงได้ค้นพบพระแก้วมรกต ต่อมาได้ถูกอัญเชิญไปไว้เมืองต่าง ๆ
พระอุโบสถ เป็นพระวิหารทรงเชียงแสน มีลักษณะฐานเตี้ย เชิงหลังคาลาดต่ำ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2433 มีขนาดกว้าง 9.50 เมตร ยาว 21.85 เมตร ต่อมาได้ขอพระราชทานวิสุงคามสีมา ประกอบพิธีผูกพัทธสีมา เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2549
พระประธานในอุโบสถคือพระเจ้าล้านทอง ซึ่งเป็นชื่อเดิมของวัดคือ “วัดล้านทอง” ต่อมาวัดถูกทิ้งร้างไป พระจึงถูกอัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดดอยงำเมืองหรือดอยงามเมือง ก่อนจะกลับมาเป็นพระประธานที่วัดพระแก้วเมื่อ พ.ศ. 2504 เป็นพระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 2 เมตร สูงจากฐานถึงพระรัศมี 2.80 เมตร รอบพระเศียร 1.60 เมตร นั่งขัดสมาธิราบ ยอดพระศกเป็นดอกบัวตูมอยู่ในเปลวเพลิง ชายสังฆาฏิสั้นเหนือรายพระถัน เม็ดพระศกใหญ่ พระหนุ (คาง) เป็นปมใหญ่และชัดมาก นับเป็นพระพุทธรูปในสกุลช่างศิลปปาละที่ใหญ่และสวยงามที่สุดในประเทศไทย
พระเจดีย์ เป็นพระเจดีย์ฐานรูปแปดเหลี่ยมแต่ละเหลี่ยมกว้าง 5.20 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 9.50 เมตร ห่อหุ้มทองแผ่นทองแดง ลงรักปิดทองทั้งองค์ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนองค์พระเจดีย์ เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ เมื่อ พ.ศ.2478
หอพระหยก เป็นอาคารทรงล้านนาโบราณประกอบด้วยไม้ชั้นเดียว ใต้ถุนสูง ขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 12 เมตร เป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธรัตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคล” หรือ “พระหยกเชียงราย” ซึ่งแปลว่า “พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นอากรแห่งรัตน เป็นมงคลอนุสรณ์ 90 พรรษา” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรี- นครินทราบรมราชชนนี บนผนังอาคารแสดงกิจกรรมจากตำนานพระแก้วมรกต ภาพวาดการสร้างและพิธีอัญเชิญพระหยกเชียงรายสู่พระอารามในวันที่ 19 ตุลาคม 2534
พระหยกเชียงราย สร้างด้วยหยกจากประเทศแคนาดา ขนาดหน้าตักกว้าง 47.9 ซม. สูง 65.9 ซม. เนื่องในมหามงคลสมัยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเจริญพระชนมายุ 90 พรรษา ในปี 2534 จังหวัดเชียงรายได้จัดสร้างพระพุทธรูปหยกแกะสลักโดยโรงงานหยกวาลินนาน มหานครปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน พระพุทธรูปหยกองค์นี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นองค์แทนพระแก้วมรกตองค์จริงที่ได้ถูกอัญเชิญไป
โฮงหลวงแสงแก้ว เป็นอาคารทรงล้านนาประยุกต์ สร้างเมื่อ พ.ศ.2538 ภายในเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงพระพุทธรูปสำคัญ เช่น พระพุทธสิหิงค์ (จำลอง) รวมทั้งศิลปวัฒนธรรมเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในรูปแบบที่ทันสมัย
เลขที่ : ชุมชนวัดพระแก้ว ต. เวียง อ. เมืองเชียงราย จ. เชียงราย 57000
-
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดุจฤดี คงสุวรรณ์ : มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย :
-