สถานะ : ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2513 สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ภาค 6
ลักษณะเฉพาะ : เป็นวัดไทใหญ่ ซึ่งในสมัยก่อนชุมชนไทใหญ่ที่อยู่โดยรอบเรียกวัดแห่งนี้ว่า “วัดเงี้ยว” หรือ “วัดช้างมูบ” (ช้างมอบ) ตามตํานานกล่าวถึงผู้สร้างวัดมิ่งเมือง ชื่อ “ตะแม่ศรี” ซึ่งมีศักดิ์เป็นพระมเหสีของพ่อขุนองค์ใดองค์หนึ่ง พระนางเป็นชาวไทใหญ่ ได้สร้างวัดแห่งนี้ให้มีศิลปะผสมระหว่างพม่าและล้านนา ต่อมาได้มีการค้นพบจารึกบนแผ่นเงินเป็นภาษาพม่า กล่าวถึงการสร้างวัดแห่งนี้โดยพบว่ามีอายุเท่ากับเมืองเชียงรายคือประมาณ 800 ปี รวมทั้งมีหลักฐานที่สำคัญหลายชิ้นที่บ่งบอกว่าเป็นวัดที่ชาวพม่าสร้างไว้ก่อนถูกทิ้งร้างไปในยุคพม่าครองเมืองเชียงราย จนกระทั่งช่วง “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ได้มีการกวาดต้อนผู้คนมาฟื้นฟูเมืองเชียงราย มีการขุดดินเพื่อนำไปเผาอิฐสร้างกำแพงเมืองในสมัยพระยารัตนอาณาเขต (เจ้าอุ่นเรือน) ขุดลงไปจนมีน้ำชั้นผิวดินออกมาเป็นบริเวณกว้าง มีการนำช้างชักลากของและพักเล่นน้ำ ชาวบ้านเรียกว่า “หนองช้างมูบ” ปัจจุบันพบอยู่ภายในวัดเรียกว่าบ่อน้ำโบราณ ชื่อ “บ่อน้ำช้างมูบ” เป็นศิลปะแบบไทยใหญ่มีซุ้มครอบไว้บนหลังช้างหมอบ
พ.ศ. 2420 ได้มีการสร้างวัดขึ้นโดยคณะศรัทธาชาวไทใหญ่ ที่อยู่ภายใต้อาณัติของอังกฤษที่เข้ามาค้าขายและตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณจำปาสี่ต้น (ปัจจุบันคือบริเวณโรงแรมแสนโฮเทล) ซึ่งได้สร้างวัดขึ้นบนพื้นที่วัดร้างเดิม ที่อยู่ติดกับประตูไก่ดํา มีพื้นที่กว้างขวางกว่า 2 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา (4,560 ตารางเมตร) ด้านหน้าหนองช้างมูบ จึงเรียกชื่อว่า “วัดช้างมูบ” ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น “วัดมิ่งเมือง”
- โบราณสถานและโบราณวัตถุในวัด
องค์พระประธาน เป็นพระพุทธรูปปั้น ลงรักปิดทองทั้งองค์ เป็นศิลปะเชียงแสนรุ่นสิงห์หนึ่ง ซึ่งได้ทำการซ่อมแซมมาถึง 4 ครั้งมีอายุถึง 400 กว่าปี เดิมเป็นศิลปะไทใหญ่ ครั้งหลังสุดช่างที่ก่อสร้างได้เพิ่มขนาดขององค์พระให้ใหญ่ขึ้น โดยมีหน้าตักกว้างขนาด 80 นิ้ว มีนามว่า “หลวงพ่อพระศรีมิ่งเมือง” ที่มีพุทธลักษณะที่งดงามตามพุทธศิลป์แบบเชียงแสนรุ่นสิงห์หนึ่งยุคต้น โดยเฉพาะที่ยอดพระเกตุโมฬีเป็นรูปดอกบัวตูมแกะสลักจากหินแก้วจุยเจียหรือแก้วโป่งข่าม ซึ่งเป็นหินที่เกิดขึ้นในดินแดนล้านนาเท่านั้น
เจดีย์ เป็นโบราณสถานเก่าแก่ที่มีคู่มากับวัด เป็นศิลปะแบบล้านนา เดิมก่อนการบูรณะเป็นรูปทรงพม่าทั้งหมด แต่ต่อมาได้รับการบูรณะใหม่ โดยสร้างเจดีย์บริวารตั้งไว้สี่มุม ประดับด้วยฉัตรศิลปะแบบพม่า เรียกเจดีย์นี้ว่า “พระธาตุมิ่งเมือง” นอกจากนี้เจดีย์นี้มีความสำคัญ คือ เป็นที่เก็บรวบรวมประวัติของวัดไว้
วิหาร เป็นวิหารศิลปะไทใหญ่ประยุกต์ผสมผสานกับรูปแบบวิหารล้านนา ภายในตกแต่งด้วยลวดลายแกะสลักลงรักปิดทอง ประกอบกับการกรุฝ้าเพดานแบบไตรภูมิและบราลีเป็นรูปหงส์จำนวน 34 ตัว
บ่อน้ำโบราณ เรียกว่า “น้ำบ่อช้างมูบ” เพราะรูปแบบการก่อสร้างมีหลังคาเป็นรูปซุ้มโขง ประดับด้วยรูปปั้นของช้างทรงเครื่อง ซึ่งหมอบอยู่ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ในสมัยโบราณเชื่อว่าบ่อน้ำนี้ได้ให้ประโยชน์แก่ชุมชนชาวตลาดเชียงรายเป็นอย่างมากเพราะเป็นบ่อน้ำแห่งเดียวที่อยู่ในบริเวณนี้ ทั้งใช้ตักดื่มและตักไปขาย และเป็นสถานที่ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างในเมืองและนอกเมือง ผู้คนสามารถแวะพักดื่มน้ำที่บ่อนี้ได้ก่อนเดินทางต่อ (อภิชิต ศิริชัย, 2559)
เลขที่ : ชุมชนประตูเชียงใหม่ ต. เวียง อ. เมืองเชียงราย จ. เชียงราย 57000
-
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดุจฤดี คงสุวรรณ์ : มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย :
-