AR-57000-00053
มัสยิดดารุลอามาน
masyiddalulaaman
ประเภทวัฒนธรรม
จับต้องได้ : Tangible.
หมวดหมู่วัฒนธรรม
สถาปัตยกรรม
AR:ARchitecture
ศาสนสถาน
ข้อมูล/ประวัติ
ลักษณะเฉพาะ : มัสยิดดารุลอามาน หรือ มัสยิดบ้านฮ่อ เป็นมัสยิดที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดเชียงราย มีขนาดพื้นที่จำนวน 1 ไร่ 17.9 ตารางวา โดยการบริจาคของมุสลิมชาวจีนยูนนานรุ่นแรก (ชาวหุย คือชาวจีนที่นับถือศาสนาอิสลามหรือจีนฮ่อ) รวม 11 ท่าน ตั้งแต่ พ.ศ. 2450 จากนั้นใน พ.ศ. 2453 โดยท่านขุน ชวงเลียง วงศ์ลือเกียรติและนายมาได้จง เจนตระกูล มอบให้มีการก่อสร้างมัสยิด ซึ่งมีนายเลายวย เป็นหัวหน้าคณะก่อสร้างและสร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2454 ลักษณะอาคารเป็นอาคารไม้ ผนังเป็นไม้ไผ่สานแล้วโบกปูนทับจากนั้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เรือนแถวถูกระเบิดเสียหายหมด จึงได้มีการเรี่ยรายเงินสร้างเรือนแถวไม้ขึ้นใหม่ จนเมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2500 จึงได้จดทะเบียนมัสยิดถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีฮัจยี บุญยืน มิตรสุวรรณเป็นอิหม่าม ฮัจยี กุลฑลีวงศ์ เป็นคอเต็บและฮัจยีมานพ พงษ์สนั่น เป็นบิหลั่น ต่อมาใน พ.ศ. 2510 อิหม่ามสุข กุลฑลีวงศ์ ได้รื้ออาคารหลังเดิมและสร้างมัสยิดขึ้นใหม่เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก จนกระทั่งปี 2550 อาคารมัสยิดเริ่มทรุดโทรม คณะกรรมการมัสยิดได้เริ่มสร้างมัสยิดหลังใหม่ ด้วยสถาปัตยกรรมสไตล์ตุรกีผสมผสานศิลปะจีนมุสลิม (เปอร์เซียตกแต่งจีน) และเปิดใช้อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2552 จุดเด่นคือ “หออะซาน” หรือ “ยอดมินาเรต” 2 เสาที่เคยมีโดมแบบอิสลามถูกแทนที่ด้วยศาลาจีนขนาดเล็ก ทำให้รูปแบบของมัสยิดแห่งนี้มีเอกลักษณ์เฉพาะที่ไม่เหมือนใคร มัสยิดดารุลอามาน นับเป็นศาสนสถานสำคัญของชาวมุสลิมในจังหวัดเชียงราย ทั้งนี้จากงานศึกษาพบว่ามุสลิมในจังหวัดเชียงรายประกอบด้วย (1) มุสลิมเชื้อสายปากีสถาน หรือเรียกว่า “ปาทาน” ที่มักเรียกตัวเองว่า “ปุกตุน” เป็นกลุ่มซึ่งอพยพมาจากทางภาคเหนือของประเทศปากีสถาน เมืองบัตกราม (Battagram) โดยเดินทางผ่านประเทศอินเดีย ประเทศบังกาเทศ ประเทศจีนและประเทศพม่า เข้ามายังชายแดนของประเทศไทยที่อำเภอเชียงแสน อำเภอเชียงของ อำเภอแม่สายและอำเภอเชียงราย ในระยะแรกกลุ่มชาวปาทานที่อพยพเข้ามาในจังหวัดเชียงราย เลือกตั้งถิ่นฐานอยู่ที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย (ปรีชา อนุรักษ์, สัมภาษณ์) ต่อมากลุ่มชาวปาทานจึงได้อพยพต่อมายังบริเวณรอบตัวเมืองเชียงราย ซึ่งปัจจุบันคือชุมชนกกโท้ง เหตุผลที่กลุ่มชาวปาทานไปอาศัยอยู่นอกเมืองเชียงรายเนื่องจากประกอบอาชีพเลี้ยงวัว สำหรับเป็นอาหาร ควายและแพะสำหรับการรีดนม จึงต้องอาศัยพื้นที่ทุ่งหญ้าใกล้กับแหล่งน้ำ (สถาบันราชภัฏเชียงราย, 2543 : 5 - 60) และ (2) มุสลิมเชื้อสายจีนยูนาน ซึ่งกระจายตัวอยู่ทั่วไปในเขตเมืองเชียงราย ซึ่งทั้งสองกลุ่มต่างใช้มัสยิดดารุลอามานในการประกอบศาสนกิจมัสยิด ในพ.ศ. 2531 ชาวปาทานบริเวณชุมชนกกโท้ง ได้รับการบริจาคที่ดินจากตระกูลอนุรักษ์เพื่อสร้างมัสยิดขึ้นใหม่โดยมีชื่อว่า “มัสยิดนูรุลอิสลามปากีสตาน” จึงมีการรวมตัวกันเพื่อประกอบศาสนกิจ ณ มัสยิดแห่งใหม่เพิ่มเติม


ที่ตั้ง
เลขที่ : ชุมชนประตูเชียงใหม่ ต. เวียง อ. เมืองเชียงราย จ. เชียงราย 57000
บุคคล/กลุ่มผู้ให้ข้อมูล
- ทวีกิจ บุญประเสริฐ
ผู้บันทึกข้อมูล
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดุจฤดี คงสุวรรณ์ : มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย :
ช่องทางติดต่อ
-
มีผู้เข้าชมจำนวน :519 ครั้ง
บันทึกข้อมูลเมื่อวันที่ : 16/11/2022 - ปรับปรุงล่าสุดวันที่ : 16/11/2022