ลักษณะเฉพาะ : วัดพระสิงห์ เป็นพระอารามหลวงเก่าแก่ และเป็นศาสนสถานอันเป็นศูนย์ รวมใจของชาวเชียงราย มูลเหตุที่ได้ชื่อว่า “วัดพระสิงห์ ” นั้นเชื่อกันว่า ครั้งหนึ่งวัดนี้เคยเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปสำคัญบ้านคู่เมืองของไทยในปัจจุบัน คือ พระพุทธสิหิงค์ หรือที่เรียกกันในชื่อสามัญว่า “พระสิงห์”
วัดพระสิงห์ เป็นพระอารามหลวงเก่าแก่และเป็นศาสนสถานประจำจังหวัดเชียงราย สันนิษฐานว่าวัดอาจจะสร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้ามหาพรหม เมื่อครั้งเสวยราชย์ ณ เมืองเชียงราย ระหว่าง พ.ศ. 1888 – 1943 (พระอนุชาของพญากือนา – ผู้ครองเมืองเชียงใหม่ ราว พ.ศ.1928) วัดพระสิงห์มีสถานะเป็นพระอารามหลวงมาแต่โบราณกาล
สาเหตุที่ได้ชื่อว่า “วัดพระสิงห์” นั้นเชื่อกันว่าเป็นเพราะเป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธสิหิงค์” หรือที่เรียกกันในชื่อสามัญว่า “พระสิงห์”ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำคัญ พระพุทธสิหิงค์หรือพระสิงห์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 21 หน้าตักกว้าง 37 เซนติเมตร ความสูงรวมฐาน 66 เซนติเมตร เป็นพระพุทธรูปสำริดปิดทอง ประดิษฐานอยู่บนบุษบกภายในกุฏิเจ้าอาวาส เชื่อว่าพระพุทธสิหิงค์หรือพระสิงห์เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดเชียงรายและประเทศใกล้เคียง มีหลักฐานปรากฏในสิหิงค์นิทานบันทึกไว้ว่า สร้างขึ้นเมื่อราวพุทธศักราช 700 ในประเทศลังกาและประดิษฐานอยู่ที่ลังกา 1150 ปี จากนั้นได้ถูกอัญเชิญมาประดิษฐานยังราชอาณาจักรไทย
ส่วนพระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธปฏิมาศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 21 ปางมารวิชัย ชนิดสำริดปิดทอง
สำหรับพระอุโบสถสร้างขึ้นราว พ.ศ. 1251 – 1252 รูปทรงเป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนาสมัย เชียงแสน โครงสร้างเดิมเป็นไม้เนื้อแข็ง บูรณปฏิสังขรณ์ให้มีสภาพสมบูรณ์ยิ่งขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2504 และครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2533 โดยพระราชสิทธินายก เจ้าอาวาส ณ ขณะนั้นรูปปัจจุบัน
บานประตูหลวง ขนาดกว้าง 2.40 เมตร ยาว 3.50 เมตร และหนา 0.2 เมตร ทำด้วยไม้แกะสลัก จิตกรรม เป็นปริศนาธรรมระดับปรมัตถ์ ออกแบบโดยอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี เป็นเรื่องราวของ “ดิน” ผ่านสัญลักษณ์รูปช้าง (เนื้อ หนัง กระดูก) “น้ำ” ผ่านสัญลักษณ์รูปนาค (ของเหลวต่าง ๆ ที่มีอยู่ในร่างกาย เช่น น้ำ โลหิต ปัสสาวะ) “ลม” ผ่านสัญลักษณ์รูปครุฑ (อากาศที่เราหายใจเข้าออก ลมปราณที่ก่อเกื้อให้ชีวิตเป็นไป) และ “ไฟ” ผ่านสัญลักษณ์รูปสิงโต (ความร้อนที่ช่วยในการเผาผลาญอาหารเกิดพลังงาน) อันหมายถึง ธาตุทั้ง 4 ที่มีอยู่ในร่างกายคนเราทุกคน ผสมผสานกันด้วยลวดลายไทย โดยมีสล่าอำนวย บัวงาม หรือ สล่านวย เป็นผู้แกะสลัก
พระเจดีย์เป็นพุทธศิลป์แบบล้านนาสร้างในสมัยเดียวกับพระอุโบสถ ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์หลายครั้ง
พระพุทธบาทจำลองบนแผ่นศิลาทราย มีขนาดกว้าง 60 เซนติเมตร ยาว 150 เซนติเมตร มีจารึกอักษรขอมโบราณ ว่า “กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา อพยากตา ธมฺมา”
หอระฆังเป็นสถาปัตยกรรมร่วมสมัยแบบล้านนาประยุกต์ มีระฆังเป็นแบบใบระกาหล่อด้วยทองเหลืองทั้งแท่ง ขนาดความสูง 25 นิ้ว ยาว 39 นิ้ว หนา 1 นิ้ว ขุดพบบริเวณวัดพระสิงห์ เมื่อ พ.ศ. 2438 ปัจจุบันชั้นล่างใช้เป็นหอกลอง (http://cdn.gotoknow.org/assets/media/files/, มปป.)
ภายในพื้นที่ของวัดพระสิงห์มีต้นไม้สำคัญต้นสาละลังกา ซึ่งชุมชนถือเป็นไม้มงคลเนื่องในพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกับต้นพระศรีมหาโพธิ์ คือ เป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าประทับสำเร็จสีหไสยาสน์เป็นครั้งสุดท้าย ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ ขณะดำรง สมณศักดิ์ที่พระธรรมกิตติโสภณ นำมาจากประเทศศรีลังกาและนำมาปลูกไว้ที่วัดพระสิงห์เมื่อพ.ศ. 2512
ปัจจุบันวัดเป็นแหล่งทุนวัฒนธรรมที่มีคุณค่าในด้านศิลปวัฒนธรรม ศาสนาและเป็นแหล่งโบราณสถานที่มีการจัดพิพิธภัณฑ์เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ทางด้านพุทธศาสนา นอกจากนนี้ยังมีกระบวนการสืบทอดภูมิปัญญาในด้านการสอนภาษาบาลี เนื่องจากเป็นโรงเรียนสอนภาษาบาลีประโยค 5 ถึงประโยค 6
เลขที่ : ชุมชนเทิดพระเกียรติ ต. เวียง อ. เมืองเชียงราย จ. เชียงราย 57000
- ามเณรปวรุตม์ วงค์บุญมา ป.,
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดุจฤดี คงสุวรรณ์ : มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย :
-