AR-57000-00049
วัดกลางเวียง
watklangwiang
ประเภทวัฒนธรรม
จับต้องได้ : Tangible.
หมวดหมู่วัฒนธรรม
สถาปัตยกรรม
AR:ARchitecture
ศาสนสถาน
ข้อมูล/ประวัติ
ลักษณะเฉพาะ : วัดกลางเวียง หรือ วัดจั๋นตะโลก, วัดจันทน์โลก, วัดจันทโลก เป็นที่ประดิษฐานสะดือเวียงเชียงราย จากการค้นพบบันทึกใบลานและแผ่นอิฐดินเผาโบราณที่จารึกคาดกันว่าสร้างขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ.1975 แต่ได้รกร้างมายาวนานและไม่ปรากฏว่าเริ่มมีการปฏิสังขรณ์เมื่อใดอย่างชัดเจน หากแต่จากหนังสือวัดกลางเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย มีการกล่าวเพิ่มเติมในเรื่องการปฏิสังขรณ์ว่า “...หลังการปฏิสังขรณ์ 10 ปี เมื่อ พ.ศ. 2386 ได้มีลูกเห็บตกอย่างหนักและลูกใหญ่ ทำให้เกิดความเสียหาย ทำให้ดินขอ (กระเบื้องดินเผา) ที่มุงหลังคากุฏิและวิหารชำรุดเสียหาย ทำให้พระธรรมคัมภีร์ พับหนังสา บันทึกโบราณต่าง ๆ เสียหาย สมภารจึงต้องเกณฑ์เอานักปราชญ์ เมธี ผู้รู้ มาช่วยกันคัดลอก เมื่อเทียบเคียงกับปรากฏการณ์ทางสังคมในช่วงเวลาต่าง ๆ ก็อาจสันนิษฐานได้จากการปฏิสังขรณ์ครั้งนี้ อายุของวัดนั้นน่าจะประมาณ 186 ปี (พ.ศ. 2376 - พ.ศ. 2562) หลังจากที่เคยเป็นวัดร้างมานานเกือบ 400 ปี เดิมวัดกลางเวียงมีชื่อว่า “วัดจั๋นตะโลก” (วัดจันทน์โลก) และเปลี่ยนเป็นวัดจันทน์โลกกลางเวียงในการเฉลิมฉลองเมืองเชียงราย พ.ศ. 2418 ซึ่งที่มาของชื่อกลางเวียง เพราะในสมัยนั้นวัดจันทน์โลกกลางเวียง คือศูนย์กลางของเวียงเชียงราย ทั้งยังเป็นที่ตั้งของ “สะดือเมืองเชียงราย” ซึ่งก็ถือกันว่าเป็นของเวียงหรือเมืองที่ได้รับการสถาปนาให้เป็นราชธานีเทียบเท่ากับเมืองหลวง หนึ่งในประวัติศาสตร์สำคัญของวัดคือการสร้างวิหารและองค์พระเจ้าขึ้นใหม่ มีพิธีบรรจุหัวใจพระเจ้าและเบิกบายสายพระเนตร มีการแห่แหนงานเฉลิมฉลองสามวันสามคืน ในวันพฤหัสบดี ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2438 เป็นช่วงที่ครูบาคันธิยะ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด “สะดือเมือง” หรือ “ดือเวียง” แต่เดิมเคยมีขนาดผ่าศูนย์กลาง 6 ศอก (วาครึ่ง = 3 เมตร) สูง 8 ศอก (2 วา = 4 เมตร) รูปลักษณ์เหมือนบ่าฟักแก้ว (ฟักทอง, บ่าแก้วน้ำ) มียอดสูงขึ้นไป เมื่อสมัยสงครามวัดวาอารามถูกทิ้งร้างชาวบ้านหนีเข้าไปอยู่ในป่า แม้ทางส่วนกลางจะส่งทหารมาดูแล กลับพบว่าสะดือเมืองที่มีการฝังของมีค่าไว้ ก็ถูกลักลอบขุด ซึ่งมีการเล่าต่อกันมาว่า พวกที่ลักลอบขุดได้พระพุทธรูป (พระสิงห์) ขนาดหน้าตักกว้าง 9 นิ้ว ไปได้หนึ่งองค์ ซึ่งหลังจากนั้นสะดือเวียง ก็ไม่ได้รับการสนใจจากชาวเมืองเชียงรายอีกเลยและถูกรื้อออกเมื่อ พ.ศ.2469 (ครูบาสุตาลังกา อภิวังโสเป็นเจ้าอาวาส) แล้วสร้างเป็นสะดือเมืองตามที่ปรากฏในปัจจุบัน เดิมเรียกว่า “วัดจั๋นตะโลก” (วัดจันทน์โลก) มาจากต้นจันทน์แดงขนาดใหญ่ในวัด ซึ่งตามธรรมเนียมโบราณเป็นไม้มงคลที่ใช้บูชาพระ วัดแห่งนี้กลายเป็นวัดร้าง จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2418 เจ้าหลวงธรรมลังกา เจ้าหลวงเมืองเชียงราย ได้มีดำริให้รังวัดเมืองจาก 4 มุมเมืองเชียงราย พบว่าจุดตรงกลางของเมืองอยู่บริเวณวัดแห่งนี้ จึงได้สถาปนา “สะดือเวียง” (เสาหลักเมือง) ขึ้น พร้อมกับเปลี่ยนชื่อวัดเป็น วัดจันทน์โลกกลางเวียง ต่อมาใน พ.ศ. 2446 เกิดพายุใหญ่พัดต้นจันทน์แดงดังกล่าวหักโค่นลงมา พระอุโบสถและวิหารพังเสียหาย หลังการบูรณะจึงเรียกเพียง “วัดกลางเวียง” ส่วนสะดือเมืององค์เดิมได้เสียหายไปนับแต่นั้น จนใน พ.ศ.2535 จึงได้สร้างสะดือเมืองขึ้นมาใหม่ประดิษฐานอยู่ในมณฑปบริเวณที่ตั้งเสาหลักเมืองเดิม พร้อมทั้งประดิษฐานท้าวจตุโลกบาล ซึ่งทำหน้าที่พิทักษ์สะดือเมืองตามความเชื่อล้านนา ส่วนบริเวณที่เคยเป็นต้นจันทน์แดงที่หักโค่นลงมา ปัจจุบันประดิษฐานเจดีย์ช้างค้ำ เป็นเจดีย์เจดีย์ที่ล้อมรอบฐานด้วยประติมากรรมช้างทรงเครื่อง (https://sangkhatikan.com/monk_view. php?ID=20084, 2565) จากข้อมูลการสนทนากลุ่มย่อย (Focus Group) ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 พบว่าในพ.ศ. 2560 – 61 เทศบาลนครเชียงรายใช้ต้นแบบจากเทศบาลนครเชียงใหม่ ริเริ่ม “ประเพณีใส่ขันดอกอินทขิล” ณ วัดกลางเวียงขึ้นเป็นครั้งแรก โดยนำ “พิธีบูชาเสาอินทขิลหรือเสาหลักเมือง” ที่ชาวเชียงใหม่ถือปฏิบัติเป็นประจำทุก ๆ ปี เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตผู้คนในเมือง โดยชาวเชียงใหม่จะทำพิธีบูชาอินทขิลในตอนปลายเดือน 8 ต่อเดือน 9 หรือระหว่างเดือนพฤษภาคมต่อเดือนมิถุนายน โดยเริ่มในวันแรม 3 ค่ำ เดือน 8 เรียกว่า “วันเข้าอินทขิล” และจะมีไปจนถึงในวันขึ้น 4 ค่ำ เดือน 9 ซึ่งเป็นวันออกอินทขิล จึงเรียกว่า “เดือน 8 เข้า เดือน 9 ออก” ตามตำนานอินทขิลหรือตำนานสุวรรณคำแดง (เชียงใหม่) พระมหาหมื่นวุฑฒิญาโณ วัดหอธรรม เชียงใหม่ กล่าวว่า บริเวณที่ตั้งเมืองเชียงใหม่ศูนย์กลางอาณาจักรล้านนานั้น เป็นที่ตั้งบ้านเมืองของชาวลัวะ ในเมืองนี้มีผีหลอกหลอนทำให้ชาวเมืองเดือดร้อนไม่เป็นอันทำมาหากิน อดอยากยากจน พระอินทร์จึงได้ประทานความช่วยเหลือ บันดาลบ่อเงิน บ่อทองและบ่อแก้วไว้ในเมือง ให้เศรษฐีลัวะ 9 ตระกูล แบ่งกันดูแลบ่อทั้ง 3 บ่อละ 3 ตระกูล โดยชาวลัวะต้องถือศีลรักษาคำสัตย์ เมื่อชาวลัวะอธิษฐานสิ่งใดก็จะได้ดังสมปรารถนา ซึ่งชาวลัวะก็ปฏิบัติตามเป็นอย่างดี บรรดาชาวลัวะทั้งหลายต่างก็มีความสุขความอุดมสมบูรณ์ ข่าวความสุขความอุดมสมบูรณ์ของเวียงนพบุรี ซึ่งเป็นตระกูลของชาวลัวะเลื่องลือไปไกลและได้ชักนำให้เมืองอื่นยกทัพมาขอแบ่งปัน ชาวลัวะตกใจจึงขอให้ฤๅษีนำความไปกราบทูลพระอินทร์ พระอินทร์จึงให้กุมภัณฑ์หรือยักษ์ 2 ตน ขุดอินทขิล หรือ เสาตะปูพระอินทร์ ใส่สาแหรกเหล็กหาบไปฝังไว้กลางเวียงนพบุรี เสาอินทขิลมีฤทธิ์มากดลบันดาลให้ข้าศึกที่มากลายร่างเป็นพ่อค้า พ่อค้าเหล่านั้นต่างตั้งใจมาขอสมบัติจากบ่อทั้งสาม ชาวลัวะแนะนำให้พ่อค้าถือศีลรักษาคำสัตย์และอย่าละโมบ เมื่อขอสิ่งใดก็จะได้ พ่อค้าบางคนทำตาม บางคนไม่ทำตาม บางคนละโมบ ทำให้กุมภัณฑ์ 2 ตน ที่เฝ้าเสาอินทขิลโกรธพากันหามเสาอินทขิลกลับขึ้นสวรรค์ไป และบ่อเงิน บ่อทอง บ่อแก้วก็เสื่อมลง มีชาวลัวะผู้เฒ่าคนหนึ่งไปบูชาเสาอินทขิลอยู่เสมอ ทราบว่ายักษ์ทั้งสองนำเสาอินทขิลกลับสวรรค์ไปแล้ว ก็เสียใจมากจึงถือบวชนุ่งขาวห่มขาว บำเพ็ญศีลภาวนาใต้ต้นยางเป็นเวลานานถึง 3 ปี ก็มีพระเถระรูปหนึ่งทำนายว่า ต่อไปบ้านเมืองจะถึงกาลวิบัติ ชาวลัวะเกิดความกลัวจึงขอร้องให้พระเถระรูปนั้นช่วยเหลือ พระเถระบอกว่า ให้ชาวลัวะร่วมกันหล่ออ่างขางหรือกระทะขนาดใหญ่ แล้วใส่รูปปั้นต่างๆ อย่างละ 1 คู่ ปั้นรูปคนชายหญิงให้ครบร้อยเอ็ดภาษาใส่กระทะใหญ่ลงฝังในหลุมแล้วทำเสาอินทขิลไว้เบื้องบนทำพิธีสักการบูชา จะทำให้บ้านเมืองพ้นภัยพิบัติ การทำพิธีบวงสรวงสักการบูชาจึงกลายเป็นประเพณีสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน จนเกิดเป็นประเพณีอินทขิลสืบมา ที่อาจมีความแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ และปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เดิมในอดีตเจ้าผู้ครองนครจะเริ่มพิธีด้วยการเซ่นสังเวยเทพยาดาอารักษ์ ผีบ้าน ผีเมืองและบูชากุมภัณฑ์ พร้อมกับเชิญผีเจ้านายลงทรง เพื่อถามความเป็นไปของบ้านเมืองว่าจะดีจะร้ายอย่างไร ฟ้าฝนจะอุดมสมบูรณ์หรือไม่ หากคนทรงทำนายว่าบ้านเมืองชะตาไม่ดี ก็จะทำพิธีสืบชะตาเมือง เพื่อแก้ไขปัดเป่าให้เบาบางลง นอกจากนี้ยังมีการซอและการฟ้อนดาบ เป็นเครื่องสักการะถวายแด่วิญญาณบรรพบุรุษด้วย พิธีกรรมนี้ทำสืบต่อมาจนถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงหยุดไป จนกระทั่งปัจจุบันเทศบาลนครเชียงใหม่ได้ดำเนินการสืบทอดประเพณีอินทขิลขึ้นใหม่ โดยมีพิธีทางพุทธศาสนาเข้ามาผสมผสาน ในวันแรกของการเข้าอินทขิล มีการแห่พระเจ้าฝนแสนห่าหรือพระพุทธรูปคันธารราษฎร์รอบตัวเมือง เพื่อให้ประชาชนสรงน้ำและใส่ขันดอก เพื่อเป็นสิริมงคลกับชีวิต ส่วนภายในวิหารอินทขิล พระสงฆ์ 9 รูป จะทำพิธีเจริญพระพุทธมนต์บูชาเสาอินทขิล ซึ่งฝังอยู่ใต้ดินภายใต้บุษบกที่ประดิษฐานองค์พระพุทธรูป เมื่อเสร็จพิธีจะมีมหรสพสมโภชตลอดงาน สำหรับประเพณีใส่ขันดอกอินทขิลที่ริเริ่มขึ้นใหม่โดยเทศบาลนครเชียงราย หลังจากที่ได้มีการยกเลิกการจัดไปเนื่องจากสถานการณ์ระบาดของโควิด – 19 (ช่วงพ.ศ. 2564 – ต้นปี 2565) (ผู้ร่วมสนทนากลุ่มย่อย, 2564) แต่ก็ได้ฟื้นประเพณีใส่ขันดอกอินทขิลอีกครั้ง โดยใช้ว่า “ประเพณีเดือน 8 เข้า เดือน 9 ออก ใส่ขันดอก บูชาเสาสะดือเมืองเชียงราย” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 พฤษภาคม - 3 มิถุนายน 2565 ณ วัดกลางเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย โดยกำหนดพิธีออก วันที่ 4 มิถุนายน 2565 ซึ่งตรงกับ แรม 13 ค่ำ เดือน 8 เหนือ ถึง ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 9 เหนือ ทั้งนี้ในพิธีกรรมประกอบด้วย พิธีขึ้นท้าวทั้งสี่ พุทธศาสนิกชนทั่วไปใส่ขันดอก พิธีการบอกกล่าวประตูเวียงเมืองเชียงรายทั้ง 12 ประตูและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ การประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์แบบล้านนา พิธีบำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทานอุทิศถวายอดีตเจ้าอาวาสและอดีตบรรพกษัตริย์ล้านนา และการแสดงมหรสพทางวัฒนธรรม


ที่ตั้ง
เลขที่ : ชุมชนเทิดพระเกียรติ ต. เวียง อ. เมืองเชียงราย จ. เชียงราย 57000
บุคคล/กลุ่มผู้ให้ข้อมูล
-
ผู้บันทึกข้อมูล
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดุจฤดี คงสุวรรณ์ : มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย :
ช่องทางติดต่อ
-
มีผู้เข้าชมจำนวน :555 ครั้ง
บันทึกข้อมูลเมื่อวันที่ : 16/11/2022 - ปรับปรุงล่าสุดวันที่ : 16/11/2022