ลักษณะเฉพาะ : นับเป็นหนึ่งในพระธาตุ “เก้าจอม” อันเป็นมงคลนามของจังหวัดเชียงราย สันนิษฐานว่าสร้างก่อนที่พญามังรายมหาราชจะเสด็จมาพบพื้นที่บริเวณนี้และโปรดให้สร้างเมืองเชียงรายขึ้นภายหลัง
ตามตํานานกล่าวถึงวัดพญาเรือนแก้ว เจ้าผู้ครองเมืองไชยนารายณ์ เป็นผู้สร้างวัดแห่งนี้ในพ.ศ. 1483 โดยได้สร้างองค์พระเจดีย์ประธานของวัดขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ภายหลังจึงได้สร้างเสาสะดือเมืองเชียงรายไว้ใกล้เคียงกัน
พระประธานในพระวิหารพระธาตุดอยจอมทอง มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงล้านนาพุกาม องค์ประกอบของเจดีย์ส่วนฐานมีลักษณะเป็นฐานปัทม์หกเหลี่ยมยกสูง องค์เจดีย์มีลักษณะเป็นชั้นบัวถลารับองค์ระฆัง ส่วนยอดประกอบด้วยบัลลังก์ ปล้องไฉน ปลียอด และมีฉัตรอยู่ชั้นบนสุด องค์เจดีย์หุ้มด้วยทองจังโกฏิ เหมือนกับพระเจดีย์อื่นๆในภาคเหนือ ทำให้เกิดความสวยงามและยังสามารถป้องกันการเกิดตะไคร่น้ำ และป้องกันการเกิดวัชพืชบนองค์เจดีย์ด้วย
พระวิหาร มีลักษณะเป็นพระวิหารแบบร่วมสมัยระหว่างศิลปล้านนาและรัตนโกสินทร์ มีองค์ประกอบที่สำคัญเหมือนพระวิหารทั่วไป กล่าวคือ ประกอบด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบัน บัวหัวเสา ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัยและมีการตกแต่งภายในพระวิหารด้วยจิตรกรรมที่แสดงเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา พิธีกรรมสำคัญประจำวัดพระธาตุดอยจอมทอง คือ ประเพณีการสรงน้ำพระธาตุในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ใต้ (เดือน 5 เหนือ) และสักการะเสาสะดือเมืองเชียงราย (เสาหลักเมือง)
นอกจากนั้นบริเวณเชิงบันไดลงทางด้านทิศตะวันตกของวัดมีศาลเจ้าจีน ซึ่งเป็นสถานที่ที่พี่น้องชาวไทยจีนนิยมมาประกอบพิธีกรรมสำคัญเป็นประจำ
ปัจจุบันมีครูวินัยธรสุรัตน์เป็นเจ้าอาวาส
เลขที่ : ชุมชนดอยทอง ต. รอบเวียง อ. เมืองเชียงราย จ. เชียงราย 57000
-
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดุจฤดี คงสุวรรณ์ : มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย :
-