กลุ่มชาติพันธุ์กูย หรือ ส่วย เป็น 1 ใน 4 กลุ่มชาติพันธุ์ดั่งเดิมที่อาศัยอยู่ร่วมกันเป็นสหวัฒนธรรมมาอย่างยาวนานในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ โดยชาวกูยเป็นกลุ่มชนที่เปิดกว้างในการยอมรับวัฒนธรรมที่หลากหลายได้เร็ว ทำให้สามารถปรับตัวอยู่ร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นที่อพยพมาอยู่ใหม่ได้อย่างรวดเร็วและกลมกลืน ไม่ว่าจะเป็นด้านภาษา ประเพณีและวัฒนธรรม โดยเฉพาะในส่วนของประเพณี วัฒนธรรม ที่ต่างก็หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวจนยากที่จะแยกกันออกได้ เช่นเดียวกับการฟ้อนรำ ซึ่งภาษากูยจะออกสำเนียงว่า “หรำ” โดยท่วงท่า ลีลาการฟ้อนรำของชาวกูยแทบจะไม่ผิดแปลกแตกต่างจากท่ารำของกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ในพื้นที่ภาคอีสานแต่อย่างใด
โครงการวิจัยการพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์กูยโดยกระบวนการการมีส่วนร่วมเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากและพลังสังคมในจังหวัดศรีสะเกษ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก บพท. และได้เข้ามาดำเนินโครงการฯในชุมชนบ้านรงระ ตำบลตูม อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวกูยอีกพื้นที่หนึ่ง จึงได้มีแนวคิดที่จะต่อยอดศิลปวัฒนธรรมการแสดงนาฏศิลป์ของชาวกูยรงระให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะภายใต้ชื่อ “หรำรงระ นาฏลีลากูยรงระ การพัฒนานวัตกรด้านการแสดง” 1 ใน 14 ผลิตภัณฑ์และบริการที่โครงการวิจัยฯได้เข้ามาดำเนินการในพื้นที่ดังกล่าว
โดยการคิดค้นและออกแบบท่ารำและดนตรีประกอบนั้นได้นำเอาชื่อหมู่บ้านคือ “รงระ” ซึ่งเป็นภาษากูย พื้นที่อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ที่เพี้ยนมาจากสำเนียงดั่งเดิมของพื้นถิ่นที่จะใช้คำว่า “โหรงระ” ซึ่งเป็นชื่อเรียกขาหยั่ง 3 ขา ทำจากไม้ไผ่หรือไม้ป่าที่แข็งแรงขนาดพอเหมาะ นำมามัดปลายด้านหนึ่งประกบเข้าด้วยกันทั้ง 3 ท่อน ส่วนอีกด้านหนึ่งตั้งกับพื้นแล้วแยกออกจากกันเป็น 3 มุมให้สูงจากพื้นดินตามความสูงหรือความถนัดของผู้ที่จะใช้งาน ซึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ลาวจะเรียกอุปกรณ์นี้ว่า “ห่างฮะ” ทำขึ้นเพื่อผ่อนแรงในการใช้ “กะโซ้” หรือ “คันโซ่” เครื่องมือที่ทำจากไม้ไผ่ ใช้สำหรับวิดน้ำออกจากบ่อเพื่อจับปลา หรือวิดน้ำเข้า ออกจากนาข้าว ที่เป็นภูมิปัญญาดั่งเดิม เนื่องจากสมัยก่อนยังไม่มีเครื่องสูบน้ำที่เป็นเทคโนโลยีด้านการเกษตรสมัยใหม่เหมือนปัจจุบัน
หลังจากที่ได้รู้ความหมายของชื่อหมู่บ้านแล้ว (ครูอร และครูจา) จึงได้นำเอามาเป็นคอนเซ็ปไอเดียในการคิดค้นท่ารำ และดนตรี/เพลงประกอบ โดยได้นำเอา “รงระ” (โหรงระ) หรือ ขาหยั่ง 3 ขา ซึ่งเป็นที่มาของการตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ มาเป็นสัญลักษณ์แทนความสามัคคีของคนในชุมชน อันดับแรกจะเปรียบขาหยั่ง 3 ขานี้เป็นเสมือนเสาหลัก 3 สถาบันที่ค้ำจุลเกื้อหนุนกันอยู่ซึ่งก็คือ บ้าน วัด โรงเรียน (บวร) และให้ “กะโซ้” แทนความรัก ความสามัคคีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของพี่น้องในชุมชน อีกทั้งยังได้นำเอาขาหยั่ง หรือ รงระ 3 ขานี้มาเปรียบเทียบความสัมพันธ์ใน 3 ระดับ กล่าวคือ ระดับที่ 1 เปรียบเทียบความรักระหว่างชายหนุ่มกับหญิงสาว ระดับที่ 2 เปรียบเทียบคนหนุ่มสาวกับบทบาทหน้าที่ที่มีต่อชุมชน และระดับที่ 3 คือเปรียบเทียบคนในชุมชนที่ให้ความเคารพต่อดินฟ้าและพญาแถน ดังนั้นท่ารำ “หรำรงระ” จึงได้เน้นการสื่อถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบเรียบง่ายของชาวกูยรงระตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงปัจจุบัน...
เลขที่ : บ้านรงระ หมู่ 8 ต. ตูม อ. ปรางค์กู่ จ. ศรีสะเกษ 33170
- นางสาวสมถวิล ทวีชาติ
- อนันศักดิ์ พวงอก : มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ :
- 0804799058