TC-33170-00002 [ ได้รับทุนจากโครงการ ]
ผ้าไหมกูยรงระ
Kui Rongra Silk
ประเภทวัฒนธรรม
จับต้องได้ : Tangible.
หมวดหมู่วัฒนธรรม
งานช่างฝีมือดั้งเดิม
TC:Traditional Craftsmanship
ผ้าและผลิตภัณฑ์จากผ้า
ข้อมูล/ประวัติ
ชุมชนรงระในอดีตนอกจากจะนิยมปลูกต้นฝ้าย (กะป๊ะ) ยังนิยมปลูกต้นหม่อนสำหรับเลี้ยงไหม เพื่อนำมาผ่านกระบวนการจนได้ผ้าทอมือเอาไว้สำหรับตัดเย็บเสื้อผ้าสวมใส่ หญิงชาวกูยบ้านรงระส่วนมากนิยมสวมใส่ผ้าไหมลายลูกแก้วย้อมเป็นสีดำด้วยกระบวนการย้อมผ้าโดยสีธรรมชาติจากลูกมะเกลือ ซึ่งเรียกภาษากูยว่า “ฮับแก็บ” จากนั้นนำไปอบสมุนไพรเพื่อให้เสื้อมีกลิ่นหอมชื่นใจ ซึ่งหญิงสูงวัยชาวกูยรงระจะนิยมปรุงแต่งกลิ่นสมุนไพรสำหรับอบเสื้อให้หอมอยู่ตลอดเวลาขณะเดียวกันก็นิยมนุ่งผ้าถุงที่ทำจากผ้าไหมทอมือที่มีความประณีตสวยงาม เรียกเป็นภาษากูยว่า “ฉิกระวี” สำหรับผู้ชายชาวกูยรงระในอดีตจะนิยมแต่งกายด้วยโสร่ง ซึ่งโสร่งลายเอกลักษณ์ชาวกูยนั้นต้องเป็นโสร่งที่มีสีสันเข้ม นิยมทอด้วยผ้าสีแดง สีน้ำเงิน ลายตัดคล้ายตาหมากรุกและสวมใส่เสื้อผ้าไหมทอมือสีขาว ผ้าไหม..ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าที่ได้รับการถ่ายทอดกันมาจากบรรพชน ซึ่งปัจจุบัน “กลุ่มทอผ้าไหมบ้านรงระ” ได้สืบสานต่อยอดจากภูมิปัญญาดังกล่าวไว้ไม่ให้สูญหาย และยังได้พัฒนาสีของผ้าไหมให้เป็นสีธรรมชาติที่มีสีสันสวยงามมากขึ้น ประกอบด้วยสีรงระ ซึ่งทำมาจากเปลือกต้นรงระ สีมะเกลือ ทำมาจากลูกมะเกลือ สีมะดันจากลูกมะดัน สีประดู่จากเปลือกประดู่ สีดอกจานจากเปลือกต้นจาน สีเขียวจากต้นสาบเสือ และเปลือกต้นมะม่วงป่า สีดอกคูณจากเปลือกต้นคูณ และ สีวิชัยจากลูกตาลที่ หมวดวิชัย นักปลูกต้นไม้ชื่อดังแห่งเมืองปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษปลูกไว้ตามรายทาง โดยผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติของกลุ่มทอผ้าไหมบ้านรงระ จะนิยมทอกันอยู่ 5 ลาย ได้แก่ ลายลูกแก้ว ลายกูย มัดหมี่กูย ผ้าโสร่ง ผ้าขาวม้ากูย ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มฯกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน ผ้าไหมรงระมีจุดเด่นตรงที่ลายไม่เหมือนที่อื่น ทอด้วยมือทุกขั้นตอน ย้อมด้วยสีธรรมชาติจากส่วนต่าง ๆ ของต้นไม้ต้นพืชที่มีอยู่ในชุมชน มีการปักแส่วด้วยตัวเอง เช่น ปักต้นรงระ ดอกรงระ เป็นลายที่เด่นในชุมชน ใช้งานได้คุ้มค่า และมีการการออกแบบและพัฒนาลายผ้าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะบ้านรงระ


ที่ตั้ง
เลขที่ : บ้านรงระ หมู่ 8 ต. ตูม อ. ปรางค์กู่ จ. ศรีสะเกษ 33170
บุคคล/กลุ่มผู้ให้ข้อมูล
- นางลำพึง สุรินทร์
ผู้บันทึกข้อมูล
- อนันศักดิ์ พวงอก : มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ :
ช่องทางติดต่อ
- 0949562010
มีผู้เข้าชมจำนวน :509 ครั้ง
บันทึกข้อมูลเมื่อวันที่ : 27/11/2022 - ปรับปรุงล่าสุดวันที่ : 27/11/2022