ลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นแบบศาลเจ้าจีนประเพณี โครงสร้างอาคารเป็นผนังก่ออิฐถือปูน มีโครงสร้างหลักตรงกลางเป็นเสาไม้กลมทรงกระสวยที่ส่วนบนเล็กกว่าส่วนล่าง เก่าแก่ที่แกะสลักลายมังกรพันรอบเสา รับโครงหลังคาจากพื้นดินถึงขื่อไม้ตุ๊กตาต่อเนื่อง เสารองเป็นสี่เหลี่ยม มีลานและเวทีประกอบการแสดงงิ้ว บูชาเทพเจ้า มีโครงสร้างไม้ของแท่นบูชาเทพปุนเถ้ากง และเทพเจ้าทวนทองที่แกะสลักสวยงาม บานประตูต่างๆ เป็นไม้เก่าแกะสลักอย่างละเอียด
สภาพในปัจจุบันอาคารอยู่ในสภาพดีแต่ผนังมีรอยร้าวทรุดโทรมบ้างเล็กน้อยโครงสร้างหลังคาไม้เดิมมีการซ่อมแซมทับหลัง และเปลี่ยนเป็นคอนกรีตแทนโครงสร้างไม้เก่า ลานหน้าเวทีแสดงงิ้วมีการทำโครงหลังคาเหล็กคลุมกันฝนในภายหลัง ทำให้เสียพื้นที่ว่างภายในไป
ประวัติโดยสังเขป
ศาลเจ้าตึกดิน หรือโถหลงสั้น หรือเทพปุนเถ้ากง เป็นศาลเจ้าคู่ชุมชนจีนเพราะเปรียบเสมือนเจ้าที่ คุ้มครองให้คนในชุมชนอยู่เย็นเป็นสุข ทำมาค้าขึ้น ชาวจีนโพ้นทะเลจึงนิยมสร้างไว้ในชุมชน เมื่อตั้งถิ่นฐานได้เป็นหลักแหล่ง ศาลเจ้าแห่งนี้ตั้งมาเมื่อใดไม่ทราบแน่ชัด แต่คนเก่าแก่ในชุมชนที่อายุมากกว่า 70 ปี บอกว่าเห็นศาลเจ้านี้ตั้งแต่จำความได้ แต่มีเรื่องเล่าว่าเป็นพี่น้องกับศาลเจ้าอีก 2 แห่งในละแวกนี้คือ ศาลเจ้าสูง หรือศาลเจ้าบางยี่เรือที่อยู่ตรงข้ามทางรถไฟ ไปทางวัดอินทาราม และศาลเจ้าแม่กวนอิม ที่บางขุนเทียน ใกล้วัดราชโอรส ศาลเจ้าโถวหลงซัน คือตั้งอยู่กับพื้นดิน โถว คือดิน คนแต้จิ๋วนิยมวางศาลไว้กับพื้น ในขณะที่ศาลเจ้าสูงหรือกุ่ยคาซัน คืออยู่บนพื้นยกสูงตามแบบคนฮกเกี้ยนนิยมทำ
(มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ. 2558)
เลขที่ : ตั้งอยู่ในโรงเรียนกงลี้จงซัน (เก่า) ต. ตลาดพลู อ. เขตธนบุรี จ. กรุงเทพมหานคร 10600
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ
- tharadol : มหาวิทยาลัยศรีปทุม :
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ