ศาลเจ้าพ่อโตแต่เดิมตั้งอยู่ในที่ดินของคนจีนชื่อก๋งงัก และได้ยกที่ดินประมาณ 3ไร่ให้เป็นที่ของศาลเจ้า 2 ศาล คือ ศาลเจ้าพ่อโตและศาลเจ้าพ่อช้างพัน ตามความเชื่อของชาวมอญที่เล่าสืบทอดกันมา อธิบายว่ามีพี่น้องสองคน พี่ชื่อโต น้องชื่อช้างพัน พี่ชายเป็นแม่ทัพเมืองหงษาวดี น้องชายเป็นควาญช้าง เป็นแม่ทัพกองช้าง ดูแลช้าง 1,000 เชือก เมื่อมอญทำสงครามกับพม่า พี่น้องสองคนได้เสียชีวิตในสงคราม ชาวมอญที่แพ้สงครามก็อพยพย้ายถิ่นเข้ามาในสยามและอาศัยอยู่ตามเมืองต่างๆ ซึ่งได้มีการสร้างศาลและเชิญวิญญาณพี่น้องสองคนให้มาสิงสถิตย์อยู่ในศาลเพื่อเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยปกป้องคุ้มครองชาวมอญ เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวมอญ ศาลเจ้าพ่อโตขึ้นทะเบียนในปี พ.ศ.2475 ในสมัยกำนันไทย พานิช (กำนันคนที่ 5 ของตำบลบ้านเกาะ) ส่วนศาลที่สาม คือศาลเจ้าพ่อการัณต์ สร้างในปี พ.ศ.2535 เนื่องจากในปีนั้น ขณะกำลังประทับทรงเจ้าพ่อโต มีชายคนหนึ่งเกิดอาการดิ้นอยู่หน้าศาล ร่างทรงเจ้าพ่อโตจึงเข้ามาถามว่าเป็นใคร ชายคนนั้นตอบว่าเป็นน้องชายคนเล็กชื่อการัณต์ หลังจากนั้นจึงได้สร้างศาลให้เจ้าพ่อการัณต์เป็นหลังที่สาม เพื่อทำให้วิญญาณของพี่น้องสามคนมาอยู่ด้วยกัน ตัวศาลในอดีตทำจากไม้ หลังคามุงสังกะสี กว้าง 2 เมตร ยาวสามเมตร ต่อมาได้มีการพัฒนาปรับปรุงมาเป็นระยะ เปลี่ยนผู้ดูแลศาลมาแล้วทั้งหมด 7 คน ชาวมอญจะจัดงานประจำปีเพื่อเซ่นไหว้เจ้าพ่อโตในวันที่ 15 เมษายน มีการทำบุญตักบาตรเลี้ยงพระ การแสดงมหรสพ การแก้บน นอกจากนั้น ถ้าลูกชายบ้านไหนจะบวชจะต้องมาทำพิธีลาเจ้าพ่อที่ศาล ถ้าคลอดลูกเป็นผู้ชาย พ่อแม่จะต้องมาทำพิธี “ชักอะโลน” (พิธีต่องาน) ที่ศาล โดยใช้น้ำมะพร้าวน้ำหอม 1 ลูก กล้วย 1 หวี พลู 1 จีบ เหรียญสลึงหรือเหรียญบาท 1 เหรียญ ผ้าสีแดง 1 ผืน พร้อมดอกไม้ธูปเทียน นำไปถวายให้ศาลแต่ละศาลเหมือนๆกัน
เลขที่ : ต. บ้านเกาะ อ. เมืองสมุทรสาคร จ. สมุทรสาคร 74000
-
- ดร.พรพิมล ศักดา : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ :
-