PA-90330-00003
โนราสรรเสริญ อมรศิลป์
์Nora
ประเภทวัฒนธรรม
จับต้องไม่ได้ : InTangible.
หมวดหมู่วัฒนธรรม
ศิลปะการแสดง
PA:Performing Arts
นาฏศิลป์และการละคร
ข้อมูล/ประวัติ
โนราหรือมโนราห์เป็นศิลปะการละเล่นอันเก่าแก่ของชาวภาคใต้ที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย นับเป็นมรกดทางวัฒนธรรมที่ชาวใต้ได้ร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อสนองความต้องการของชีวิตและสังคม จึงมีความผูกพันกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านมาช้านานอย่างแนบแน่น สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านและความเป็นไปของสังคมไว้เกือบทุกแง่ทุกมุม เพราะนอกจากโนราจะมีบทบาทในฐานะที่เป็นสื่อบันเทิงแล้ว ยังมีบทบาทในฐานระเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมที่เกี่ยวกับความเชื่อของชาวบ้านอีกด้วย วิถีชีวิตของชาวใต้ในอดีตจึงมีความเกี่ยวข้องกับโนราอย่างแยกไม่ออก การแสดงโนรา อาจแบ่งออกได้ 2 ประเภท คือ โนราที่ใช้การแสดง และโนราที่ใช้ในพิธีกรรมหรือที่เรียกว่า “โนราลงครู” หรือ “โนราโรงครู” การแสดงโนราเป็นการละเล่นที่มีทั้งการร่ายรำ บทร้องประกอบดนตรี บทเจรจา และบางทีก็มีการแสดงเรื่องด้วยเครื่องดนตรีของโนราคล้ายกับเครื่องดนตรีของหนังตะลุง คือ มีทับ กลอง ปี่ โหม่ง ฉิ่ง และแตระ เครื่องดนตรีเหล่านี้จะใช้ประกอบจังหวะและเสียงร้องให้เข้ากันกับการรำ เครื่องแต่งกายของโนราใช้เครื่องทรงอย่างกษัตริย์ มีเทริด ผ้าห้อยหน้า เจียระบาด สร้างตาบหางหงส์ ปีกนกแอ่น ปีกเหน่ง เสื้อ 2 ชั้น ชั้นในเป็นผ้าธรรมดา ชั้นนอกร้อยลูกปัดคาดรอบอก รอบแขน สวมกำไลมือเท้า สวมเล็บ ปลายแหลมงอนเรียว การสวมเครื่องแต่งกายทุกครั้งต้องเสกคาถา แป้งที่ใช้ทาต้องเสกด้วยคาถาและลงอักขระ ปัจจุบันคณะโนราสรรเสริญ อมรศิลป์ ตั้งมาแล้ว 20 ปี มีนายโรงดูแล คือ นายอมร นวลใย ซึ่งเป็นหลานและลูกศิษย์ของโนราพุ่มเฒ่า เขาผีตำบลชะแล้ ปัจจุบันมีการสืบทอดมาแล้ว 3 รุ่น โดยคุณพ่อเป็นลูกคู่มือทับเอก และคุณแม่เป็นนางรำ ทั้งนี้ทางคณะโนราสรรเสริญมีรูปแบบการแสดง 3 รูปแบบด้วยกัน คือ โนรางานแสดง (รำโชว์โบราณ), โนราโรงครู และโนราดนตรี 1) โนรางานแสดง (รำโชว์โบราณ) เป็นการรับแสดงรำในงานบวชและงานทอดกฐิน หรืองานมงคลต่างๆ 2) โนราโรงครู เป็นการรำรับขันธ์และการรำเพื่อแก้บน โดยในการรำจะมีการถวายของเซ่นไหว้ และชุดบายศรี ทั้งนี้ในการรำสามารถใช้ผู้รำเพียงคนเดียวได้ซึ่งแตกต่างจากการรำรูปแบบอื่นๆ ซึ่งในการรำโนราโรงครูนั้นนับเป็นรายได้หลักของทางคณะ โดยจะรับรำเฉพาะวันอังคารและวันเสาร์เท่านั้น 3) โนราดนตรี เป็นการแสดงในรูปแบบของงานคอนเสิร์ต โดยเริ่มจากการร่ายรำและต่อด้วยการขับร้องเพลงลูกทุ่ง ในพื้นที่ตำบลชะแล้ มีคณะโนราที่มีชื่อเสียงในพื้นที่ด้วยกัน 2 คณะ ได้แก่ คณะโนราสรรเสริญ และคณะโนราสุชาดา ซึ่งมีการสืบทอดพิธีกรรมมาจากคณะโนราเดียวกัน คือ คณะโนราวิเชียรศิลป์ ตำบลปากรอ อ.สิงหนคร จ.สงขลา ซึ่งเป็นตำบลที่อยู่ในละแวกใกล้เคียง โดยเป็นการแตกแขนงสาขาของคณะโนราให้เป็นที่รู้จักในแวดวงโนรามากยิ่งขึ้น ซึ่งในแต่ละปีจะมีการพบปะเพื่อรวมวงการแสดงเป็นคณะใหญ่ ในช่วงเดือน 6 (เดือนพฤษภาคม) และจะมีการทำพิธีกรรมไหว้ครูโนรา ในวันพุธแรกของเดือน โดยในแต่ละคณะโนราที่ได้รับการสืบทอดจะมีนายโรงเป็นหัวหน้าคณะ ซึ่งนายโรงจะต้องเป็นบุคคลที่ผ่านการครอบเทริดมาแล้ว และมีอายุ 21 ปีขึ้นไป โดยในการครอบเทริดนั้นจะสามารถทำได้เพียงบุคคลที่เป็นผู้ชายที่ผ่านพิธีกรรมการตัดจุกและบวชพระมาแล้วเท่านั้น เพื่อให้สามารถกล่าวคำพระและคาถาอาคมต่างๆ ได้ในงานโรงครูได้ คณะโนราสรรเสริญ มีจุดมุ่งหมายในการสืบทอดและเรียนรู้ คือ 1) ฝึกอบรม เรียนรู้ มโนราให้แก่ผู้ที่สนใจ 2) สืบทอดความรู้ให้เยาวชนรุ่นใหม่ โดยร่วมกับโรงเรียนระดับประถมศึกษาในเขตพื้นที่ตำบลชะแล้ ในการสอนท่ารำโนรา ทั้ง 12 ท่าการแสดง รวมทั้งการร้อยลูกปัดสำหรับการทำชุดโนรา 3) การผลิตของที่ระลึกจากลูกปัดโนรา 4) จัดพิธีกรรมเข้าโรงครูและการทำบายศรี ตามความเชื่อของพิธีกรรมโนรา ในทุกๆ เดือน 6 ของทุกปี โดยจะมีการแสดงรำโนรา เพื่อไหว้ครู ไหว้โนราตายาย และกตเวทิตาคุณต่อครูของตน, เพื่อแก้บน และเพื่อการครอบเทริด


ที่ตั้ง
เลขที่ : บ้านเลขที่ 65 หมู่ 5 ต. ชะแล้ อ. สิงหนคร จ. สงขลา 90330
บุคคล/กลุ่มผู้ให้ข้อมูล
- นายอมร นวลใย
ผู้บันทึกข้อมูล
- Rujiya1995@gmail.com : มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ :
ช่องทางติดต่อ
- 081-6781837
มีผู้เข้าชมจำนวน :594 ครั้ง
บันทึกข้อมูลเมื่อวันที่ : 01/05/2022 - ปรับปรุงล่าสุดวันที่ : 01/05/2022